วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

THE ART OF WAR - SUNWU

THE ART OF WAR - SUNWU: "INDEX BOTTOM NEXT

คลิกที่รูป เพื่อไปหน้าสารบัญ กรณีที่ท่านคลิกเข้ามาที่หน้านี้โดยตรง
ผู้แต่ง : ซุนวู c. 544 – 496 BC.
แปลและเรียบเรียง : เสถียร วีรกุล พ.ศ. ๒๔๙๕
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๕
พิมพ์ครั้งที่สองแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๒๙









หากว่าชุบเลี้ยงอย่างถึงขนาดแล้ว
แต่ไม่สามารถช่วงใช้ได้
รักอย่างสุดใจ
แต่ไม่อยู่ในบังคับบัญชา
กระทำผิดระเบียบวินัย
ก็ไม่อาจลงโทษทัณฑ์กัน
เหล่าพลเช่นนี้
เปรียบเหมือนบุตรที่กำเริบเสิบสาน
ใช้ทำศึกไม่ได้เลย














บันทึกหน้าแรก


ซุนวู เป็นนักการทหารและนักปกครองที่เชี่ยวชาญเป็นยอดเยี่ยมในสมัยชุนชิว เกิดเมื่อประมาณสองพันสี่ร้อยถึงห้าร้อยปีก่อนระหว่างพุทธกาล ได้รับสมญาว่าเป็นมังกรหนึ่งในสมัยนั้น

อันสมัยชุนชิวนั้น เป็นสมัยที่องค์จักรพรรดิเสื่อมถอยด้อยอำนาจลง ด้วยเจ้าครองนครต่าง ๆ พากันสร้างสมทหารเพื่อชิงความเป็นใหญ่ มีการรบราฆ่าฟันกันตลอดยุค เพราะฉะนั้น จึงเป็นยุคที่บ้านเมืองอลวนไปด้วยข้อพิพาทและทำศึกกัน เปิดโอกาสให้ปราชญ์ต่าง ๆ ได้ใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ ในการแสดงความคิดเห็นตามอุดมการณ์ของตน จึงได้กำเนิดเป็นลัทธิต่าง ๆ อย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน

ชีวประวัติ ซุนวู ตามที่ค้นพบว่า บรรพบุรุษมีรกรากอยู่ในประเทศฉี และตระกูลเดิมมิใช่แซ่ ซุน หากแซ่ เถียน (บางแห่งว่า เฉิน) ปู่ทวดของซุนวูมีนามเดิมว่าเถียนอ๋วน สืบสายถึง เถียนอู๋หยู่ ซึ่งเป็นผู้สืบสายโลหิตชั้นที่ ๔ มีบุตร ๒ คน คือ เถียนฉาง และเถียนซู, เถียนซูเป็นเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ของประเทศฉี เนื่องจากมีความชอบในการตีแคว้น จู่ ได้ชัยชนะ พระเจ้าจิ้งกงจึงพระราชทานให้แซ่ซุน และถือศักดินากินเมือง เล่ออาน เถียนซ ูหรือ ซุซู มีบุตรชื่อ ซุนเฝิง เฝิงกำเนิด ซุนวู หรือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่เรากล่าวถึงนี้

ภายหลังเนื่องด้วย เถียนเปา สี่ตระกูลก่อการจลาจล ซุนวูจึงลี้ภัยการเมืองไปพำนักยังประเทศหวู และได้เข้าทำราชการในประเทศหวูนั้น ด้วยการ ยกย่องและชักนำของ อู่หยวน (โหงวจือซือ) ซุนวูได้น้อมเกล้าถวายตำราพิชัยสงครามซึ่งตนแต่งแก่พระเจ้าเหอหลู พระเจ้าเหอหลูพอพระทัย จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ และได้นำทัพทำการรบกับประเทศ ฉู่, ฉี, จิ้น, ซ่ง และ หลู่ได้ชัยชนะอย่างงดงาม มีกิตติศัพท์เกริกก้องกำจรกำจาย เป็นที่หวั่นเกรงของแคว้นต่าง ๆ ทั่วไป

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ซุนวูมิใช่ 'นักละเลงขนมเบื้องด้วยปาก' วาดตัวอักษรให้เห็นทฤษฎีงาม ๆ น่าชมน่าเลื่อมใสเท่านั้น ทั้งทางปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติการให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานอีกด้วย

เมื่อซุนวูได้รับผลสำเร็จในทางทหารอย่างงดงามแล้ว เขามิได้มัวเมาลุ่มหลงในยศถาบรรดาศักดิ์และลาภสักการนั้น ๆ จนลืมตน เขาเห็นว่าพระเจ้าเหอหลูเป็นกษัตริย์ มีความหวาดระแวงเป็นเจ้าเรือน นั่นเองมีอำนาจทางทหารเช่นนี้ จะรับราชการด้วยดีโดยตลอดรอดฝั่งมิได้ ฉะนั้น จึงถวายบังคมลาออกจากราชการไปบำเพ็ญชีวิตตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างสันโดษ

ตำราพิชัยสงครามซุนวู ซึ่งตกทอดมาถึงเดี๋ยวนี้มี ๑๓ บรรพด้วยกัน ได้ประมวลหลักปรัชญาการต่อสู้และทฤษฎีการปกครองไว้อย่างครบครัน หนังสือเล่มนี้เบื้องโบราณสมัยหลัง ๆ ต่อมา แม้ ขงเบ้ง, พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ตลอดจนนักการทหารและนักการปกครองอันมีชื่อของจีนอื่น ๆ ก็ได้ถือเป็นตำราเล่าเรียนตลอดมา ชาวโลกก็นิยมว่าเป็นแม่บทของตำราวิชาการทหารซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่ง ถ้อยคำสำนวนเดิมสั้น, รัดกุม, แน่นแฟ้น และเป็นคำยากด้วยเป็นคำโบราณ เท่าที่ทราบกันว่าได้แปลเป็นพากย์ต่าง ๆ แล้ว มีภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เชคโก, เยอรมัน ฯลฯ หลายภาษาด้วยกัน สำหรับพากย์ไทยที่ข้าพเจ้าแปลนี้ ข้าพเจ้าได้แปลจากต้นฉบับโดยตรง พร้อมทั้งยังเรียบเรียงอรรถาธิบายเป็นภาษาจีนปัจจุบันควบคู่ตามอันดับวรรคตอนโดยตลอดด้วย ข้าพเจ้าได้พยายามทำตามความสามารถที่จะทำได้ หากมีข้อขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้รู้โปรดได้กรุณาชี้แจงแนะนำเพื่อแก้ไขด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูง

เสถียร วีรกุล
๑๔ มกราคม ๒๔๙๕










คำนิยมจาก ล.เสถียรสุต


บรรดาหนังสือแนวปรัชญาของจีน จำได้ว่ามีอยู่ไม่กี่เล่มที่ได้รับการยกย่องหรือถือว่าเป็น 'คัมภีร์' เช่น คัมภีร์เหลาจื๊อ-ขงจื๊อ และ ตำราพิชัยสงครามของซุนวู ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกยกเป็น 'คัมภีร์' เช่นกัน

สิ่งที่อยากจะกล่าวถึงคุณความดีของ 'ตำราพิชัยสงครามซุนวู' ก็คือภาษาหนังสือของ 'ซุนวู' ถูกยกย่องว่าเป็นภาษาหนังสือที่ดีที่สุด มีทั้งความเฉียบคม ดุเดือด เข้มแข็ง เด็ดขาด และลีลาที่สง่างามทางภาษา ซึ่ง โจโฉ ก็กล่าวยกย่องไว้มาก
ประการต่อมา-เนื้อหาซึ่งถือเป็นตำราพิชัยสงครามนั้น มีคุณค่าสูงส่งโดยปราศจากข้อสงสัย แม้ 'ขงเบ้ง' ก็ยกย่องและยอมรับนับถือ บรรดาแม่ทัพนายกองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจีนจำนวน 13 คน ได้ทำ 'หมายเหตุ' บรรยายหรือขยายความเพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง
หนังสือ 'ตำราพิชัยสงครามชุนวู' เล่มนี้ยังได้ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง แม้แต่คำกราบบังคมทูลของขงเบ้งก็อ้างถึงว่า โจโฉมีความสามารถเทียบเท่าซุนวู ไกเซอร์ วิลเลียมที่สองซึ่งพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะถูกเนรเทศไปอยู่ที่ฮอลแลนด์ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และได้กล่าวว่า 'ถ้าได้อ่านตำราพิชัยสงครามซุนวูมาก่อนหน้านี้ คงรบไม่แพ้แน่'

นักการทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้เขียนบรรยายถึงหนังสือเล่มนี้โดยละเอียด สรุปไว้ว่า เป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นปรัชญาซึ่งทุกคนสามารถนำมาใช้ได้ตลอดชีวิต และใช่จะใช้ได้แต่เฉพาะการยุทธ์ในสงครามเท่านั้น แม้แต่การดำเนินกิจการงานทั่วไป และการดำรงชีวิตในครอบครัวให้ปกติสุข 'ตำราพิชัยสงครามซุนวู' ก็สามารถนำมาใช้อย่างได้ผลดีเช่นกัน

ชาวจีนยกย่องซุนวูว่า 'ซุนจื๊อ' เช่นเดียวกับที่เรียกเหลาจื๊อ, ขงจื๊อ หมายถึง 'ท่านปราชญ์ซุนวู' ซึ่งบรรดาปราชญ์ที่ได้รับยกย่องนี้มีไม่กี่คนนัก
คุณเสถียร วีรกุล เป็นผู้หนึ่งซึ่งมีความสามารถทางด้านอักษรศาสตร์จีนและไทยเป็นอย่างดี ซึ่งท่านคงจะเห็นด้วย เมื่อได้อ่าน ตำราพิชัยสงครามซุนวู เล่มนี้แล้ว

ล. เสถียรสุต
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙




เสถียร วีรกุล ผู้แปล 'ตำราพิชัยสงครามซุนวู' เยือนสุสานบูเช็กเทียน









ซุนวู หรือ ซุนจื่อ เป็นชาวแคว้นฉี เมื่อตำราพิสัยสงครามของเขาได้ถูกนำทูลเสนอพระเจ้าเหอหลู แห่งนครหวู (นครวูจางในปัจจุบัน) และเมื่อทรงอ่านจบได้รับสั่งแก่ซุนวูว่า

'ตำราพิชัยสงครามทั้ง ๑๓ บรรพ นั้น ข้าได้อ่านจนจบสิ้นขบวนความแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าใช้ได้ผลโดยปราศจากข้อสงสัย ขอท่านสำแดงยุทธวิธีควบคุมขบวนศึก เป็นการทดสอบจะได้หรือไม่'
ซุนวูทูลว่า 'มิอาจขัดพระทัยพระเจ้าข้า'
พระเจ้าเหอหลูตรัสถามว่า 'จะทดสอบด้วยอิสตรีได้หรือไม่'
ซุนวูตอบว่า 'แล้วแต่พระประสงค์พระเจ้าข้า'
พระเจ้าเหอหลูส่งนางสนมเอกและสนมที่โปรดปราน ๑๐๘ คน ซุนวูได้แบ่งเป็นสองกองร้อย และให้สนมเอก ๒ คน ทำหน้าที่เป็นนายกองให้ทุกคนถือง้าวเป็นอาวุธ เข้าแถวแบบทหาร ซุนวูถามด้วยเสียงเฉียบขาดหนักแน่นว่า
'ทุกท่านย่อมรู้ แขนซ้าย แขนขวา และหลังอยู่ที่ใด'
'ทราบดี' บรรดานางสนมตอบ

ซุนวูจึงกล่าวต่อไปว่า 'เมื่อข้าพเจ้าสั่งว่าหน้าหัน ก็ขอให้ทุกคนมองตรงไปเบื้องหน้า ถ้าสั่งว่าซ้ายหันก็หันไปทางเบื้องซ้าย ถ้าสั่งว่าขวาหันก็หันไปทางเบื้องขวา และถ้าสั่งว่า กลับหลังหันก็หันกลับหลังไปทางขวามือ ท่านพอจะเข้าใจหรือไม่'
'เราเข้าใจ' นางสนมตอบ

ซุนวูปฏิบัติให้ดูและกล่าวย้ำ พร้อมกับแจ้งถึงวินัยทหาร แล้วนำขวานอาญาสิทธิ์มาตั้งบนแท่น ประกาศถึงอาญาสิทธิ์ตามวินัยทหาร จากนั้นก็สั่งให้ทหารหญิงทุกคน 'ขวาหัน'
แต่บรรดาทหารหญิงกลับส่งเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน
ซุนวูจึงกล่าวว่า 'หากยังไม่เข้าใจกฎเกณฑ์แน่ชัด ระเบียบวินัยทหารยังไม่ซึมซาบ ย่อมถือเป็นความผิดของแม่ทัพ'

จากนั้นซุนวูก็กล่าวย้ำคำสั่งอีกสามครั้ง อธิบายอีกห้าครั้ง แล้วก็ลั่นกลองให้ทหาร 'ซ้ายหัน'
นางสนมยังคงหัวเราะดุจสำเริงสำราญอยู่ในวังก็มิปาน
ซุนวูจึงกล่าวว่า 'หากคำบัญชาไม่แจ้งชัด คำสั่งไม่เป็นที่เข้าใจ แม่ทัพสมควรถูกตำหนิ หากคำสั่งชัดแจ้ง การซักซ้อมและคำอธิบายแจ้งชัด แต่ไม่อาจรักษาระเบียบวินัย ความผิดย่อมตกอยู่ที่นายกอง'
นายกองก็คือสนมเอกสองคน 'นำทั้งสองไปตัดศีรษะ' ซุนวูสั่งทหาร
พระเจ้าเหอหลูตกพระทัยรีบลงจากแท่นประทับ รับสั่งขอชีวิตนางสนมเอกทั้งสอง 'ข้าเห็นแล้วว่า ท่านสามารถคุมทัพจัดขบวนศึกได้ดี แต่ข้าไม่อาจขาดนางสนมทั้งสองได้ ถ้าปราศจากนางข้าย่อมเหมือนกินอาหารไร้รสชาติ ขอจงระงับยั้งโทษสักครั้งเถิด'
ซุนวูจึงทูลตอบว่า 'ในเมื่อทรงแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นแม่ทัพ อาญาสิทธิ์ในการควบคุมแม่ทัพนายกองย่อมอยู่ที่ข้าพเจ้า พระราชโองการย่อมไม่อาจมาแปรเปลี่ยนได้'
จึงเป็นอันว่าสนมเอกทั้งสองถูกประหารชีวิตในบัดนั้น ต่อหน้าบรรดาทหารหญิง จากนั้นซุนวูก็ให้นางสนมคนถัดมาเป็นนายกองแทน
เสียงกลองสัญญาณให้ทหารหญิงปฏิบัติตามคำสั่งดังรัวขึ้นอีก คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นคำสั่ง ซ้ายหัน ขวาหัน ต่างปฏิบัติตามกันเคร่งครัด

ซุนวูถวายรายงานต่อพระเจ้าเหอหลูว่า 'บัดนี้ ทหารหญิงได้รับการฝึกซ้อมและอยู่ในระเบียบวินัยขบวนยุทธ์แล้ว ขอพระองค์ทรงตรวจพล หากพระองค์จะรับสั่งให้ไปรบทัพจับศึก บุกน้ำลุยไฟที่ไหน เขาย่อมพร้อมปฏิบัติแม้ชีวิตจะหาไม่'

พระเจ้าเหอหลูตรัสว่า 'ท่านแม่ทัพกลับไปพักได้แล้ว ข้ายังไม่ประสงค์จะตรวจพล'
ซุนวู ทูลว่า 'พระองค์ทรงโปรดแต่สำนวนในตำราพิชัยสงคราม แต่ปราศจากความจริงใจในหลักยุทธศาสตร์ของตำราเล่มนี้'

หลังจากนั้นพระเจ้าเหอหลูก็ทรงตระหนักดีว่าซุนวูเป็นผู้ชำนาญูด้านกลยุทธ์ จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพออกเผชิญศึก นำทัพบุกยึดอาณาจักรฉู่(จิว-เมืองฌ้อ) บุกอาณาจักรฉีและอาณาจักรจิ้น, ซ่ง, หลู่ ซึ่งต่างยอมศิโรราบ และเป็นที่ครั่นคร้ามของบรรดาแคว้นน้อยใหญ่ในขณะนั้น










เพื่อกันความเข้าใจสับสน ในวงการแปลเกี่ยวกับตำราการทหารของจีน ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ ชี้แจงถึงปัญหาตำราพิชัยสงครามบางประการ ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามสมควร

ตำราพิชัยสงครามของจีน มีปรากฏหลักฐานแน่ชัดและมีหนังสือครบถ้วน อยู่ถึง ๗ ฉบับด้วยกัน ซึ่งทางจีนเขาเรียกว่า 'หวู่จิงชีซู' () หรือตำราพิชัยสงคราม ๗ ฉบับ ดังมีชื่อดังต่อไปนี้

ก. ตำราพิชัยสงครามซุนวู () อีกชื่อหนึ่ง 'ซุนจื๊อปิงฝ่า' () 'วู' ที่ข้าพเจ้าแปลนั้นเป็นชื่อของปรมาจารย์ทหารผู้นั้นโดยตรง ซึ่งเป็นการออกเสียงตามภาษากลาง ถ้าออกเสียงเป็นเสียงแต้จิ๋วจะอ่านว่า 'บู๊' (บุ๋นหรือบู๊ตามที่คนไทยเราเข้าใจกัน) ว่าที่จริงคำว่า บุ๋น (พลเรือน) บู๊ (ทหารหรือพลกำลัง) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงชาวฮกเกี้ยนภาคเอ้หมึง ข้าพเจ้าใช้ว่าซุนวูเพื่อให้ต่างจาก 'ตำราพิสัยสงครามของซุนปิง' () (ซึ่งเป็นนิพนธ์ของหลานปู่ของซุนวูในสมัยจ้านกว๋อ) () มีเวลาห่างจากกันประมาณร้อยกว่าปี ภายหลังหนังสือฉบับนี้ได้สูญหายไป จนกระทั่งคนโบราณต่อ ๆ มาเข้าใจว่า ซุนวู หรือ ซุนปิง คือคนเดียวกัน แต่หนังสือเล่มนี้เพิ่งจะมาค้นพบในสุสานสมัยฮั่น () เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) เดือนเมษายน ในตำบลอินเฉ่ซัน () อำเภอหลินฉี มณฑลซานตุง
ข. ตำราพิชัยสงครามของซุนปิง ทางการของประเทศสาธารณรัฐประชากรจีน ได้ให้ฝ่ายโบราณคดี และผู้เชี่ยวชาญทางอักษรโบราณชำระแล้ว แต่เนื่องจากเขียนด้วยหมึกไว้บนแผ่นซีกไม้ไผ่ และเวลาเนิ่นนานมาทำให้เกิดชำรุดเสียหายและกระจุยกระจายในสถานที่นั้น เมื่อชำระแล้วมีข้อความขาดตกบกพร่องกระท่อนกระแท่น ตัวอักษรขาดหายไปเป็นคำ ๆ และแม้กระทั่งเป็นวรรค ๆ ทั่วไป ซึ่งเขาได้จัดพิมพ์เป็นสำเนาขั้นต้นไว้แล้ว ในการชำระเบื้องต้นนี้เขาแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคต้น มีข้อความ ๑๕ บรรพ นับตั้งแต่ 'จับผังเจวียน' () ถึง 'การสร้างแสนยานุภาพ' () ภาคปลายก็จัดไว้เป็น ๑๕ บรรพ ตั้งแต่ ปุจฉา ๑๐ประการ () ถึง 'รบซึ่งหน้า และรบพลิกแพลง' () ข้าพเจ้าได้หนังสือนี้มาเล่มหนึ่ง แต่ไม่สามารถแปลได้ เพราะข้อความกระท่อนกระแท่นจนไม่สามารถจับใจความให้เข้าใจได้โดยสิ้นเชิง

ค. หนังสือพิชัยสงครามอีก ๖ ฉบับ คือ
ค. ๑ ตำราพิชัยสงครามหวูฉี่ () หรือ หวูจื่อ () ขอชี้แจงคำ 'จื่อ' นี้เป็นคำยกย่องว่า 'ปราชญ์' หรือ 'ผู้คงแก่เรียน' เช่น ขงจื๊อ ฯลฯ และหวูฉี่ อ่านตามสำเนียงแต้จิ๋ววา โง้วคี้, โง้ว คือแซ่ของชาวจีนดาษดื่นทั่วไปแม้ในประเทศไทย
ค. ๒ ตำราพิชัยสงคราม อุ้ยเหลี่ยวจื่อ ()
ค. ๓ ตำราพิชัยสงครามเคล็ดลับ ๖ ประการ () ว่ากันว่าเป็นนิพนธ์ของ จิวไท้กง () หลือหว้าง ()
ค. ๔ ตำราพิชัยสงคราม 'กโลบาย ๓ ประการ' ()(ซ่านเล่ห์)
ค. ๕ ตำราพิชัยสงคราม 'ซือหม่าฝ่า' ()
ค. ๖ คำปุจฉา-วิสัชนาของ 'หลี่อุ้ยกง' ()


ตำราพิชัยสงคราม เขียนบนซีกไม้ไผ่

ตำราพิชัยสงคราม นอกจากซุนปิง ซึ่งไม่สมบูรณ์แล้ว นอกนั้นเป็นหนังสือที่มีข้อความครบถ้วนทั้งนั้น แต่เมื่อกล่าวถึงหลักของการทำสงครามตลอดจนการปกครองแล้ว ความรวบรัดเป็นหลักการมีน้ำหนักและรอบคอบรวมทั้งใซ้ภาษาที่รัดกุมประทับใจ ไม่มีฉบับใดจะเกิน 'ตำราพิชัยสงครามซุนวู' ซึ่งทั่วโลกยกย่องว่าเป็นแม่บทของการทหาร การทำสงคราม รวมทั้งหลักการปกครองด้วย จึงมีฉบับแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกหลายประเทศ ในเมืองไทยก็มีหลายสำนวนด้วยกัน เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ เพื่อความเข้าใจอันดีและถูกต้อง จึงขอถือโอกาสเรียนชี้แจงโดยย่อ ตามข้อความข้างต้นนี้

นายเสถียร วีรกุล
๘ กันยายน ๒๕๒๑
(หลังจากการพิมพ์ครั้งแรกมาแล้ว ๒๖ ปี)









LINKS

* Sun Zi- The Art of War

* Sun Tzu's Art of War
(Simplified Chinese )
* Sun Tzu's Art of War
(Traditional Chinese )
* SUN TZU ON THE ART OF WAR
(English )
* SUN TSU'S ART OF WAR
(Lionel Giles, M.A. (1910)
* MASTERS OF WAR (Double standards)
* ตำราพิชัยสงคราม SUNTZU ๑๓ บทไม้ตาย

* ตำราพิชัยสงคราม ๒๑ กลยุทธไทย

* กระทู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม
* Sun Tzu from Wikipedia




อนึ่ง พึงสำเหนียกว่าตำรายุทธพิชัยนี้
ควรนำไปใช้ต่อสู้กับอริราชข้าศึกศัตรูเพื่อปกป้องประเทศชาติ
หาิใช่นำมาใช้ต่อสู้แก่งแย่งทำลายล้างคนในชาติด้วยกันเองไม่
ดังที่ีบางบุคคลและบางกลุ่มเคยใช้เป็นกลยุทธ์สร้างสถานการณ์
บีบคั้นให้บางองค์กรสถาบันต้องตกกระไดพลอยโจน
กระทำความผิดพลาดอันใหญ่หลวง



INDEX TOP NEXT
HOME"

ไม่มีความคิดเห็น: