วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ตำราพิชัยสงครามซุนวู 1-4

ตำราพิชัยสงครามซุนวู 1-4: "BACK INDEX BOTTOM NEXT









ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การรณรงค์สงคราม
เป็นงานใหญ่ของประเทศชาติ
เป็นจุดความเป็นความตาย
เป็นวิถีทางอันนำไปสู่ความยืนยงคงอยู่
หรือดับสูญหายนะ
พึงพินิจพิเคราะห์จงหนักทีเดียว





เพราะฉะนั้น
จึ่งวินิจฉัยด้วยกรณียกิจ ๕ ประการ
เปรียบเทียบถึงภาวะต่าง ๆ
เพื่อทราบความจริง กล่าวคือ
๑.ธรรม ๒.ดินฟ้าอากาศ
๓.ภูมิประเทศ ๔.ขุนพล ๕. ระเบียบวินัย





ธรรมคือ สิ่งที่บันดาลให้ทวยราษฎร์
ร่วมจิตสมานฉันท์กับฝ่ายนำ
ร่วมความเป็นความตาย
โดยมิได้ย่อท้อต่อภยันตรายใด ๆ เลย





ดินฟ้าอากาศ
คือ กลางวันกลางคืน ความร้อนความหนาว
และความผันแปรเปลี่ยนแปลงแห่งอากาศ





ภูมิประเทศ ก็คือความใกล้ไกล
ความทุรกันดารหรือราบเรียบแห่งพื้นที่
ความกว้างแคบของแนวรบ
ตลอดจนยุทธภูมินั้น
อยู่ในลักษณะเป็นตายอย่างไร





ขุนพล คือบุคคลผู้ประกอบด้วยสติปัญญา
ความเที่ยงธรรม ความเมตตา
ความกล้าหาญ และความเข้มงวดเด็ดขาด





ระเบียบวินัย
คือระบอบการจัดสรรพลรบ
วินัยแห่งทหาร
และการใช้จ่ายของกองทัพ





กรณียกิจ ๕ ประการนี้
แม่ทัพนายกองย่อมรู้อยู่ทั่วกัน
แต่ทว่าผู้รู้จริงจึงชนะ ผู้ไม่รู้จริงย่อมปราชัย





ด้วยเหตุฉะนี้
จึงต้องเปรียบเทียบภาวะต่าง ๆ
เพื่อทราบความจริง
กล่าวคือ มุขบุรุษฝ่ายไหนมีธรรม
ขุนพลฝ่ายไหนมีสมรรถภาพ
ดินฟ้าอากาศอำนวยประโยชน์แก่ฝ่ายใด
การบังคับบัญชาฝ่ายไหนยึดปฏิบัติมั่น
มวลพลฝ่ายไหนแข็งกล้า
ทแกล้วทหารฝ่ายไหนชำนาญศึก
การปูนบำเหน็จหรือการลงโทษ
ฝ่ายไหนทำได้โดยเที่ยงธรรม
จากเหตุเหล่านี้ ข้าฯก็พอหยั่งถึง
ซึ่งความมีชัยหรือปราชัยได้แล้ว





แม่ทัพนายกองคนใด
เห็นด้วยยุทโธบายของข้าฯ
เอาไว้ใช้คงชนะ จงรับไว้ใช้
ผู้ใดไม่เห็นชอบด้วย
ขืนใช้ไปคงต้องประสบความพ่ายแพ้แน่นอน
ก็ให้เขาออกจากหน้าที่ไปเถิด







เมื่อได้วางแผนการเหมาะสม
และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเห็นชอบและเชื่อฟังดีแล้ว
ก้าวต่อไปก็คือ เสกสร้างเหตุการณ์ให้เกิดขึ้น
เพื่อคอยเป็นกำลังเสริมทางภายนอกอีกด้านหนึ่ง
อันว่าเหตุการณ์อันจะปลุกเสกขึ้นนั้น
เรามิพักต้องถือหลักเกณฑ์ตายตัว
จงทำไปโดยนัยประโยชน์ของฝ่ายเราก็แล้วกัน





ยุทธศาสตร์คือวิชาเล่ห์เหลี่ยมแต้มคู





เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีความสามารถจริง
พึงแสดงให้เห็นว่า เราไม่มีความสามารถเลย





ครั้นตกลงจะเข้าโรมรันด้วย
แต่แสดงประหนึ่งว่า เราไม่มีความประสงค์เช่นนั้น





สิ่งใดใกล้ก็แสดงให้เห็นว่าไกล
สิ่งใดไกลก็แสดงให้เห็นว่าใกล้





คอยล่อใจศัตรูด้วยนานาอามิสประโยชน์





เมื่อเห็นศัตรูแตกแยกระส่ำระสายแล้ว
ก็พึงเข้าหักเอา





จงเตรียมพร้อมเมื่อข้าศึกมีกำลังสมบูรณ์




หลีกเลี่ยงเมื่อข้าศึกเข้มแข็งแกร่งกล้าอยู่





เย้าเมื่อศัตรูตกอยู่ในโทสะจริต





พึงถ่อมตัวพินอบพิเทาเสริมให้ศัตรูโอหังได้ใจ





ต้องรังควาญให้เหน็ดเหนื่อยระอา
ในเมื่อศัตรูพักผ่อนเพื่อออมกำลัง





ยุรำตำรั่ว ให้ปรปักษ์แตกแยกความสามัคคีกัน





พึงหักเอาในขณะที่เขาไม่ได้เตรียมพร้อม
เข้าจู่โจมยามที่เขาไม่ได้คาดฝัน





ทั้งนี้ เป็นเงื่อนงำความมีชัยของนักการทหาร
จงอย่าแย้มพรายให้ศัตรูล่วงรู้
เจตจำนงแท้จริงของเราได้เป็นอันขาด





อันแผนการรบซึ่งสังสรรค์กัน
ในพระเทพบิดรมหาปราสาท (สภาการรบในสมัยโบราณ)
ได้บ่งชี้ให้เห็นชัยชนะแต่เมื่อยังไม่ได้รบกัน
ย่อมเนื่องจากได้พิจารณา
ทบทวนแผนการนั้นโดยรอบคอบแล้ว
ตรงกันข้ามลางแพ้จะปรากฏให้เห็นแต่ต้นมือ
เมื่อการวางแผนการรบยังไม่ละเอียดรอบคอบ
การณ์เป็นเช่นนี้ สาอะไรกับสงคราม
ซึ่งมิได้วางแผนการเอาเสียเลยเล่า
และด้วยสิ่งเดียวนี้
ขัาฯก็ประจักษ์ชัดถึงโชคชัยและปราชัยแล้ว














ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การเคลื่อนพลนั้น
รถใช้ในการโจมตีอันเทียมด้วยม้าสี่
และรถพิทักษ์หุ้มเกราะหนังแต่ละพันคัน
พลรบนับแสนซึ่งพร้อมสรรพด้วยเกราะ โล่ ดั้ง เขน
การลำเลียงเสบียงอาหารในระยะทางไกลตั้งพันโยชน์
ค่าใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ
รายจ่ายในการรับรองทูตานุทูต
ค่าเครื่องอุปกรณ์อาวุธ เช่น กาวหรือยางไม้
ค่าซ่อมแซมเครื่องรบนานาชนิด
ต้องใช้จ่ายวันละพันตำลึงทอง
จึงสามารถยกพลจำนวนเรือนแสนได้





ดังนั้น การนำพลเข้าโรมรันกัน
หลักสำคัญคือ รีบคว้าเอาชัยชนะเสียในเร็ววัน
ถ้าปล่อยให้การรบยืดเยื้อแล้ว
อาวุธยุทโธปกรณ์จะลดความคมกล้า
ขวัญทหารนับวันจะเสื่อมทราม
เมื่อคิดจะโหมเข้าหักเมือง
กำลังรี้พลก็อ่อนเปลี้ยแล้ว
กองทัพต้องติดศึกอยู่นานวันฉะนี้
การคลังของประเทศก็จะเข้าตาจน





อันอาวุธขาดความคมกล้า
ขวัญทหารเสื่อมทราม
กำลังรี้พลกะปลกกะเปลี้ย
และทรัพย์สินเงินทองฝืดเคือง
(เมื่อมีอันเป็นไปเช่นนี้)
ประเทศราชทั้งหลาย
ก็จักฉวยโอกาสลุกฮือขึ้นทันที





เบื้องนี้ ถึงแม้จะมีผู้กอปรด้วยสติปัญญาเฉียบแหลมปานใด
ก็ไม่สามารถบริหารงานให้เป็นไปโดยราบรื่นได้





ฉะนี้ ดั่งได้สดับมา การรบนั้น
แม้ผู้เขลาก็ยังทราบว่า
ต้องการความรวดเร็ว
ไม่เคยปรากฏว่าผู้ฉลาดใด
นิยมการยืดเยื้อชักช้าเลย





อันการศึกติดพันกันเป็นเวลานาน
แต่ประเทศชาติกลับได้รับประโยชน์จากเหตุนั้น
ยังไม่เคยปรากฏเลย





จึ่งผู้ใดยังไม่ทราบผลร้ายของสงครามโดยถ่องแท้แล้ว
ผู้นั้นยังไม่ทราบซึ้งถึงผลดีของสงครามเช่นเดียวกัน





ผู้สันทัดจัดเจนในการศึก
เขาไม่ระดมพลถึงคำรบสอง
เขาจะไม่ลำเลียงเสบียงอาหารถึง ๓ ครั้ง
อาวุธยุทโธปกรณ์เครื่องใช้
ซ่อมจากประเทศของตนเอง
แต่เสบียงอาหารพึงเอาจากศัตรู กระนี้
อาหารของเหล่าทหารจึงเพียงพอแล





ประเทศจะยากจนลง
ก็เพราะต้องส่งเสบียงอาหาร
แก่กองทัพในระยะทางไกล
ด้วยว่าการกระทำเช่นนั้น
ย่อมทำให้เหล่าประชายากแค้นแสนเข็ญ





ในเขตการทหาร
จะซื้อสิ่งของก็ต้องซื้อด้วยราคาแพง
ของแพงจักทำให้เงินทองราษฎร
ร่อยหรอสิ้นเปลืองไป
การสิ้นเปลืองนี้แหละ
จะนำมาซึ่งการเกณฑ์สรรพวัตถุต่าง ๆ อีก





กำลังแรงงานและกำลังทรัพย์ของประเทศ
ต้องสิ้นเปลืองไปจนหมดสิ้น
ทุกครัวเรือนจักว่างเปล่า
รายได้ของประชาราษฎร์
ต้องถูกเกณฑ์ใช้ ๗ ใน ๑๐





การสิ้นเปลืองของประเทศ
อาทิ รถรบที่ชำรุดเสียหาย
ม้าลาที่พิกลพิการ
เสื้อเกราะ หมวกเหล็ก ธนู
หอกหลาว ดั้ง เขน โล่ใหญ่
ตลอดจนวัวเขื่องและรถหนัก
จะต้องสูญเสียถึง ๖ ใน ๑๐





เพราะฉะนั้น ขุนพลผู้กอปรด้วยสติปัญญา
พึงหาเลี้ยงรี้พลของตนจากศัตรู
การกินข้าวของศัตรู ๑ 'จง'
มีผลดีเท่ากับกินของตนเอง ๑๐ 'จง'
ใช้พืชเลี้ยงสัตว์พาหนะ
เช่น ต้นถั่วหรือฟางข้าว ๑ 'ซึ'
เท่ากับใช้ของตนเอง ๒๐ 'ซึ'





ดั่งนี้ การที่จะให้ทหารเข่นฆ่าข้าศึก
ก็โดยปลุกปั่นให้เกิดความเคียดขึ้ง
จะให้รี้พลหาญหักเข้าช่วงชิง
สัมภาระทั้งหลายของศัตรู
ก็โดยให้สินจ้างรางวัล





ดั่งเช่นการรบด้วยยานรถ
ผู้จับรถข้าศึกได้ ๑๐ คันขึ้นไป
ต้องปูนบำเหน็จทหารเข้ายึดคนแรกให้ถึงขนาด
แล้วเปลี่ยนธงประจำรถขึ้นทำเนียบของเรา
เชลยศึกซึ่งจับได้นั้นต้องเลี้ยงดูโดยดีเพื่อช่วงใช้ตามควร
นี้แหละจึงจะได้ชื่อว่า ยิ่งชนะข้าศึกเพียงใด
ก็ยิ่งเพิ่มความเกรียงไกรแก่ตนเองเพียงนั้น





เพราะฉะนั้น การทำสงคราม
ต้องรีบกำชัยชนะเผด็จศึกในเร็ววัน
ไม่ควรเนิ่นช้าอยู่
ฉะนั้น ขุนศึกผู้รอบรู้การศึก ก็คือ
วีรบุรุษผู้กำความเป็นความตายของผองนิกร
และผู้แบกไว้ซึ่งภาระ
อันจะยังความร่มเย็นหรือทุกข์เข็ญ
แก่ประเทศชาตินั้นแล













ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า หลักการยุทธ
(ซึ่งทำให้ประเทศศัตรูหมอบราบคาบแก้ว)
โดยมิพักต้องทำลายเมืองนับว่าประเสริฐยิ่ง
รองลงมาก็คือ หักเอาโดยไม่ต้องทำลายกองพล
รองลงมาอีกก็คือเอาชนะโดยไม่ต้องทำลายกองพัน
เลวกว่านั้นก็อย่าให้ต้องถึงทำลายกองร้อย
หรือทำลายกระทั่งหมวดหมู่





เพราะฉะนั้น การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้
แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึ่งถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง





ดังนั้น วิธีการใช้ทหารชั้นเลิศคือหักศัตรูด้วยกโลบาย
รองลงมาคือหักเอาด้วยวิธีการทูต
รองลงมาอีกขั้นหนึ่งคือหักด้วยกำลังทหาร
เลวที่สุดนั้นคือการล้อมตีค่ายคู หอรบ ของศัตรู





เบื้องว่ายกพลเข้าล้อมตีเมืองข้าศึก
พึงใช้เมื่อคราวจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
เพราะการซ่อมโล่ใหญ่และรถหุ้มเกราะ
การเตรียมเครื่องใช้ไม้สอย
จักต้องกินเวลาตั้งสามเดือนจึงลุความสำเร็จ
ต่อจากนี้จะต้องใช้เวลา
เพื่อสร้างป้อมปราการอีกราว ๓ เดือน
ในความชักช้าเช่นนี้
ผู้บัญชาการทหารจะรู้สึกเดือดดาลรำคาญใจ
จนถึงแก่ต้องใช้ทหารเข้าโจมตี
อย่างมดตอมเสียก่อนกำหนด
เมื่อเสียรี้พลไปสัก ๑ ใน ๓
แต่ยังมิอาจหักเข้าไปได้
ย่อมเป็นภัยแก่ฝ่ายรุกตีอย่างอนันต์





ด้วยเหตุนี้ นักการทหารที่สามารถ
พึงทำให้ข้าศึกยอมแพ้ได้โดยไม่ต้องรบ
ยึดครองเมืองข้าศึกได้โดยไม่ต้องเข้าล้อมตี
ทำลายประเทศศัตรูโดยไม่ต้องใช้เวลานาน
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษากำลังฝ่ายตนมิให้พร่อง
เพื่อพิชิตข้าศึกภายใต้หล้านี้
เมื่อรี้พลไม่บอบช้ำ
ผลประโยชน์ที่ได้รับก็จักสมบูรณ์
หลักยุทโธบายมีอยู่ดังนี้แล





(เมื่อถึงคราวที่ต้องใช้กำลังทหารกันแล้ว)
หลักยุทธวิธีมีอยู่ว่า
เรามีกำลัง ๑๐ เท่าของข้าศึก จงเข้าล้อมเอา
ถ้า ๕ เท่าของศัตรู ก็จงบุกตี
ถ้าเพียงเท่าเดียว ก็แยกเป็นสองกองเข้าชิงชัย





ถ้าหากกำลังทัดเทียมกัน
จงพยายามเข้ารบพุ่ง
น้อยกว่าจงตั้งรับไว้
ถ้าด้อยกว่า
จงหาทางหลีกเลี่ยงไว้ก่อน





ฉะนั้น ความขัดแข็งถือดีของกำลังอันน้อย
ย่อมตกเป็นลูกไก่ของกองทัพ
อันมีกำลังมหาศาลนั่นเอง






อันขุนพลก็เสมือนหนึ่งหลักชัยของประเทศ
ถ้าหลักชัยนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วน ประเทศก็เข้มแข็ง
หากมีคุณสมบัติขาดตกบกพร่อง ประเทศก็อ่อนแอ





เพราะฉะนั้น
ราชันย์มักทำความเสียหายให้แก่การทหาร
ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ





ไม่เข้าพระทัยว่า
กองทัพเคลื่อนกำลังรุกไปไม่ได้ แต่รับสั่งให้รุก
หรือกองทัพจะถอยไม่ได้ แต่รับสั่งให้ถอย
เช่นนี้เรียกว่ากีดขวางการปฏิบัติทางทหาร
ไม่เข้าพระทัยในกิจการทหาร ก็ทรงเข้าเกี่ยวข้องด้วย
จะทำให้แม่ทัพนายกองงุนงง (ไม่ทราบทางปฏิบัติ)
ไม่เข้าพระทัยในหลักการปรับตัวกับเหตุการณ์โดยยุทธนัย
ก็ทรงรับภารกิจอันนั้น จะทำให้แม่ทัพนายกองสงสัยแคลงใจ





เมื่อเหล่าทหารงุนงงสงสัย
ภัยอันเกิดจากจากเจ้าครองนครก็จะพลันถึง
นี้แหละเรียกว่า ก่อความระส่ำระสาย
ให้บังเกิดแก่กองทัพตนเอง
และอำนวยชัยชนะแก่ข้าศึก





เพราะฉะนั้น วิธีหยั่งรู้ชัยชนะมีอยู่ ๕ ประการ คือ
รู้ว่าควรรบไม่ควรรบเพียงใด ผู้นั้นชนะ





รู้หลักการใช้ทหารมากน้อยเพียงใด
ผู้นั้นชนะ





ฝ่ายนำและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ร่วมจิตสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ผู้นั้นชนะ





เตรียมพร้อมเสมอ
เพื่อคอยโอกาสหละหลวมของศัตรู
ผู้นั้นชนะ





ขุนพลมีสมรรถภาพ
และราชันย์ไม่สอดแทรกก้าวก่าย
(ปล่อยให้ปฏิบัติการได้โดยเสรี)
ผู้นั้นชนะ





หลัก ๕ ประการนี้ คือ
วิธีหยั่งรู้ซึ่งความมีชัย





เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า
หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด
ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่
หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย
ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล

















ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
ผู้เชี่ยวชาญการศึกในสมัยโบราณ
ก่อนอื่นเขาต้องสร้างความเกรียงไกรแก่ตนเอง
เพื่อคอยโอกาสที่จะเอาชนะข้าศึก
ความพิชิตนั้นต้องอยู่ที่เรา
แต่ความเอาชนะได้ต้องอยู่ที่ข้าศึก





เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการศึก
แม้อาจจะสร้างความเกรียงไกรแก่ตนเอง
แต่ไม่สามารถทำให้ข้าศึก
จะต้องอยู่ในฐานะเอาชนะได้
(เพราะเป็นเรื่องของข้าศึกเอง)
จึงกล่าวได้ว่า อันชัยชนะนั้น
เราอาจหยั่งรู้ แต่ไม่สามารถจะสร้างขึ้น





ในขณะที่ยังเอาชนะข้าศึกไม่ได้
พึงตั้งรับไว้ก่อน
ครั้นที่จะเอาชนะได้ จงเร่งรุกเถิด
การตั้งรับนั้นเพราะกำลังยังด้อย
รุกเพราะมีกำลังเหลือหลาย
ผู้สันทัดในการตั้งรับนั้น
จะเสมือนหนึ่งซ่อนเร้นยังใต้บาดาลชั้นเก้า
(เงียบกริบปราศจากวี่แววใด ๆ)
ผู้เชี่ยวชาญในการรุกนั้น
ดุจไหวตัว ณ ฟากฟ้าชั้นเก้า
(ก่อเสียงกัมปนาทน่าสะพึงกลัว)
ด้วยเหตุนี้ จึ่งสามารถรักษากำลังของตน
และได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์





การหยั่งเห็นชัยชนะซึ่งใคร ๆ ก็รู้อยู่แล้ว
มิใช่ชัยชนะอันดีเลิศ
เมื่อรบชนะแล้วพลรบต่างแซ่ซ้องร้องสรรเสริญ
ก็มิใช่ชัยชนะอันเยี่ยมเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุว่า
ผู้สามารถยกขนสัตว์เพียงเส้นเดียวได้นั้น มิใช่ผู้ทรงพลัง
ผู้มองเห็นเดือนและตะวันได้ มิใช่ผู้มีนัยน์ตาแจ่มใส
ผู้ได้ยินฟ้าคำรณลั่น มิใช่ผู้มีโสตประสาทไว





ผู้ใดชื่อว่าเชี่ยวชาญการศึกในสมัยโบราณกาล
เขาชนะเพราะเหตุที่อาจเอาชนะได้โดยง่าย
ฉะนั้นชัยชำนะของผู้เชี่ยวชาญศึก
จึงไม่มีนามบันลือในทางสติปัญญา
ไม่มีความดีในทางกล้าหาญ





ดังนั้น ชัยชำนะของเขาเป็นสิ่งที่แน่นอนไม่แปรผัน
ที่ว่าไม่แปรผันนั้น ก็โดยที่เขารบต้องชนะ
ชนะเพราะข้าศึกแพ้แล้วนั่นเอง






ดังนั้น ก่อนอื่น
ผู้ที่เชี่ยวชาญการศึกต้องอยู่ในฐานะไม่แพ้แล้ว
และไม่พลาดโอกาสที่ข้าศึกจักต้องแพ้ด้วย





ด้วยเหตุนี้เอง
กองทัพที่กำชัยชนะ จึงรบในเมื่อเห็นชัยแล้ว
แต่กองทัพที่พ่ายแพ้จะรบเพื่อหาทางชนะ





ผู้เชี่ยวชาญการศึก
มุ่งผดุงธรรมและรักษาระเบียบวินัย
จึงสามารถประสิทธิ์โชคชัยได้





หลักยุทธศาสตร์มีว่า
๑ ศึกษาภูมิประเทศ
๒ การคำนวณความสั้นยาวแห่งยุทธบริเวณ
๓ การวางอัตราพลรบ
๔ การหาจุดศูนย์ถ่วงแห่งกำลัง
๕ สู่ความมีชัยอันลักษณะพื้นภูมิทำให้เกิดการคำนวณ
การคำนวณทำให้มีการวางอัตราพลรบ
การวางอัตราพลรบทำให้เกิดความมีชัยในที่สุด





ดังนั้น กองทัพพิชิต (เมื่อเข้ายุทธแย้งกับข้าศึก)
จึงเสมือนเอา 'อี้' * (ของหนัก) ไปชั่ง 'จู' (ของเบา)
แต่กองทัพที่พ่ายแพ้นั้น
กลับเสมือนเอา 'จู' (ของเบา) ไปชั่ง 'อี้' (ของหนัก)





การทำสงครามของผู้กำชัยชนะ
เปรียบประดุจปล่อยน้ำซึ่งทดไว้
ให้พุ่งสู่หุบห้วยลึกตั้งพัน 'เยิ่น' (ราว ๘๐,๐๐๐ ฟุต ผู้แปล)
นี่คือลักษณะการยุทธแล


* จูและอี้เป็นมาตราชั่งสมัยดึกดำบรรพ์ของจีน กล่าวกันว่า ๒๕ จู เท่ากับ ๑ ตำลึง, ๒ ตำลึง เท่ากับ ๑ อี้ -ผู้แปล





BACK INDEX TOP NEXT
home"

ไม่มีความคิดเห็น: