วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ตำราพิชัยสงครามซุนวู 5-8

ตำราพิชัยสงครามซุนวู 5-8: "BACK INDEX BOTTOM NEXT









ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การปกครองทหารจำนวนมากได้ดั่งคนจำนวนน้อย
ก็ด้วยระเบียบการจัดกองรบ





การต่อสู้คนจำนวนมากได้เช่นเดียวกับเผชิญคนจำนวนน้อย
ก็ด้วยอาณัติสัญญาณธงและฆ้องกลอง





กองทัพหนึ่งซึ่งกอปรด้วยพลรบมากหลาย
แต่อาจบัญชาให้รบข้าศึกได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำนั้น
ก็ด้วยรู้จักวิธีรบซึ่งหน้าและวิธีรบพลิกแพลง





กองทัพรุกพุ่งไปทางใด เสมือนหนึ่งกลิ้งหินเข้ากระทบไข่
เพราะรู้วิธีใช้กำลังอันแข็งแกร่งทลายจุดอ่อนแอของข้าศึกนั่นเอง





สงครามใด ๆ ก็ดี
ทั้งสองฝ่ายย่อมเข้าปะทะกันซึ่งหน้า (เป็นปกติวิสัย)
แต่จักชนะกันได้ก็ด้วยยุทธวิธีพลิกแพลง





เพราะฉะนั้น ผู้จัดเจนวิธีการยุทธพลิกแพลง
วิธีการของเขาจะไม่รู้อับจน ดั่งดินฟ้าอันไม่รู้จักสิ้นสูญ
จักไม่รู้หมดสิ้นดั่งแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย
พอจบแล้วก็เริ่มใหม่ เช่นเดือนตะวันที่ตกแล้วขึ้นอีก
ตายแล้วก็ผุดเกิด เช่นการหมุนเวียนแห่งฤดูกาลทั้ง ๔





สรรพสำเนียงมีเพียง ๕
แต่ความเปลี่ยนแปรแห่งเสียงทั้ง ๕ นั้น เราจักฟังไม่สิ้น
สีมีเพียง ๕ แต่การแปรแห่งสีทั้ง ๕ จะทัศนาไม่หมด
รสมีเพียง ๕ แต่ความแปรเปลี่ยนแห่งรสทั้ง ๕
ย่อมลิ้มชิมไม่รู้จบ (ฉันใด)





(ฉันนั้น) สภาพการรบ
ซึ่งมีเพียงการรบซึ่งหน้า และรบพลิกแพลงเท่านั้น
แต่ความเปลี่ยนแปรแห่งวิธีการทั้งสอง ก็มิรู้จักสิ้นสุดดุจกัน
การรบซึ่งหน้าและรบพลิกแพลงย่อมเกื้อกัน
เหมือนห่วงโซ่ติดเป็นพืดหาข้อขึ้นต้นมิได้
ฉะนี้ ใครจะเสาะหาเงื่อนงำของมันได้เล่า?





ความเร็วของสายน้ำเชี่ยว
ถึงกับพัดพาก้อนหินลอยไปด้วยนั้น
เนื่องจากความไหลแรงของมัน
ความเร็วของนกอินทรี
ถึงกับทำลายเหยื่อแหลกลาญไป
ก็ด้วยรู้จักประมาณช่วงระยะโจมตีอย่างดี





ด้วยเหตุนี้ ยุทธานุภาพของผู้เชี่ยวชาญศึก
จึงรวดเร็วน่าสะพรึงกลัว
การจู่โจมของเขาจึงอยู่ในช่วงสั้น





ยุทธานุภาพนั้น
เหมือนหน้าไม้อันเหนี่ยวเต็มแล้
การกำหนดช่วงโจมตี
เหมือนการเล็งเพื่อปล่อยลูกธนู





ในขณะที่โรมรันพันตูกันดูชุลมุนวุ่นวาย
แต่จะระส่ำระสายไม่ได้
กระบวนศึกติดพันกันเป็นวงกลมดูสับสนอลวน
แต่จะแพ้เสียมิได้





การรบที่ชุลมุนวุ่นวายนั้น
ต้องเกิดจากยุทธวิธีอันมีระเบียบ
อาการประหนึ่งขลาดกลัวนั้น
ต้องเนื่องจากความเหี้ยมหาญ
ทีท่าซึ่งดูอ่อนเปลี้ย
ต้องสืบจากความแข็งกล้า
(ทั้งเพื่อซ่อนความจริงให้ข้าศึกหลงเข้าใจผิด)





ความมีระเบียบหรือความวุ่นวาย
เป็นเรื่องของการจัดพลรบ
(ถ้าการจัดพลดีก็จะยังความมีระเบียบได้)
ความขลาดหรือความกล้า
เป็นเรื่องของยุทธานุภาพ
(ถ้าสถานการณ์ได้เปรียบ
แม้ทหารที่ขลาดก็จะบังเกิดความกล้า)
ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอเป็นเรื่องของกระบวนศึก
(ถ้ากระบวนศึกอยู่ในลักษณะดี
ทแกล้วที่อ่อนแอก็จะเข้มแข็งแกร่งกล้าขึ้น)







เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการหลอกล่อข้าศึก
เมื่อแสดงกิริยาท่าทีไปบ้าง ข้าศึกจะตกหลุมพลาง
ทันทีที่หยิบยืนให้ ข้าศึกจะต้องตะครุบเอา
จึ่งล่อด้วยประโยชน์แล้วคุมเชิงด้วยพลพฤนท์





เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญศึก
พึงแสวงชัยชนะจากรูปการณ์สงคราม
มิใช่คอยแต่ตีโพยตีพายผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้เขาจึงรู้จักเลือกใช้คน
และผ่อนคล้อยตามรูปการณ์
(เพื่อบรรลุชัยชนะในที่สุด)





ที่ว่าผ่อนคล้อยตามรูปการณ์ คือ
การบัญชากองทัพเข้ารบกับข้าศึก
ก็เหมือนงัดซุงหรือก้อนหินให้กลิ้งไป
อันธรรมชาติของไม้หรือหินนั้น
ในที่ราบเรียบมันจะนิ่งไม่ขยับเขยื้อน
ในที่ลาดชันมันจะกลิ้งเอง
ถ้าไม้และหินนั้นเป็นเหลี่ยมมันจะหยุด
ถ้ากลมมันจะหมุน





ด้วยเหตุฉะนี้ อาการประยุทธไพรี
ซึ่งเสมือนหนึ่งกลิ้งหินกลมจากภูผาสูงตั้งพัน 'เยิ่น'
(มันจะบดขยี้ไปอย่างอุตลุด)
ก็เนื่องแต่ยุทธานุภาพยังให้เป็นไปฉะนั้นแล
















ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
ผู้ถึงสมรภูมิคอยทัพข้าศึกก่อน กำลังย่อมสดชื่น
ส่วนผู้ที่ถึงหลังและยังต้องเข้ารบด้วย ย่อมเหน็ดเหนื่อยอิดโรย
จึ่งผู้ชำนาญการศึกพึงคุมผู้อื่น
หายอมอยู่ในฐานะให้ผู้อื่นคุมไม่






การที่จะทำให้ข้าศึกมาเข้าบ่วงเอง
ก็ด้วยล่อให้เห็นผลได้
และจะให้ศัตรูขยาดไม่เข้าใกล้
ก็ด้วยแย้มให้เห็นผลเสีย ด้วยเหตุนี้
ถ้าศัตรูอยู่ในภาวะสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
เราก็อาจรังควาญให้ได้รับความลำบาก
ถ้าอิ่มหมีพีมัน เราก็อาจทำให้หิวโหย
ถ้าสงบมั่นคง เราก็อาจทำให้หวั่นไหวสะดุ้งสะเทือน






จึ่งโจมตีในเส้นทางที่ข้าศึกจะต้องมา
และเข้าบุกคราศัตรูมิได้คาดฝัน
การตีกองทัพเดินทางไกลตั้งพัน 'หลี่' (ราว ๓๕๗.๙ ไมล์)
โดยไม่รู้สึกอิดโรยนั้น
ก็เพราะเดินทางไปในแนวที่ปลอดคน (ไม่มีศัตรูรบกวน)
การตีเมืองเป็นต้องได้
ก็เพราะตีเมืองที่ศัตรูไม่สามารถจะรักษาไว้
ครั้นถึงคราวรักษาเมืองก็รักษาได้เหนียวแน่นมั่นคง
ก็เพราะข้าศึกไม่พึงประสงค์เข้าตี





ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สันทัดการรุก
จึงเข้าบุกจนศัตรูไม่มีทางรับ
ส่วนผู้ชำนาญการตั้งรับ
จะทำให้ข้าศึกไม่ทราบว่าจะเข้าตีอย่างไร






มันช่างแสนพิศดารยิ่งหนอ
ถึงแก่ไม่แสดงรูปลักษณ์ให้เห็น
มันช่างมหัศจรรย์เหลือล้น
ถึงแก่ไม่ปรากฏสุ้มเสียงให้ได้ยิน
จึงอาจกำชีวิตไพรินไว้ได้โดยเด็ดขาด






ยามเข้าราญรุก
ก็บุกจนข้าศึกต้านทานไม่อยู่
เพราะเข้าทลายจุดอ่อน
ครั้นทีถอยก็ถอยจนไล่ไม่ติด
เพราะความรวดเร็วไม่ทันกัน






ฉะนี้ เมื่อเราต้องการจะรบ
แม้นข้าศึกจะอยู่ในป้อมค่ายอันสูง
และมีคูเมืองอันลึกล้อมรอบ
ก็ไม่วายที่ต้องออกรบด้วยความจำใจ
ด้วยว่าเข้าตีจุดที่ข้าศึกต้องแก้นั่นเอง
คราเราไม่ประสงค์จะรบ
แม้นขีดเส้นตั้งรับไว้บนพื้นดิน
ศัตรูก็ไม่อาจรบเราได้
เนื่องด้วยผิดจำนงในการเข้าตีของเขา






ฉะนั้น จึงให้ศัตรูเป็นฝ่ายเปิดเผย
ส่วนเราไม่สำแดงร่องรอยให้ประจักษ์
กระนี้ฝ่ายเรารวม แต่ศัตรูแยก
เรารวมเป็นหนึ่ง ศัตรูแยกเป็นสิบ
เท่ากับเราเอาสิบเข้าตีหนึ่ง
เมื่อกำลังฝ่ายเรามากแต่ศัตรูน้อย
การที่เอากำลังมากจู่โจมกำลังน้อย
สิ่งที่เราจะจัดการกับข้าศึกก็ง่ายดาย






สถานที่เราจะรบข้าศึก
เรามิแย้มพรายให้รู้
เมื่อข้าศึกไม่รู้ก็ย่อมต้องแบ่งแยกกำลัง
เตรียมรับไว้หลายแห่งด้วยกัน
เมื่อข้าศึกกระจายกำลังป้องกันมากแห่ง
ส่วนที่เราต้องเข้ารบพุ่งด้วยก็ย่อมน้อยลง






ฉะนั้น ถ้าระวังหน้า กำลังทางหลังจะน้อย
ระวังทางด้านหลัง กำลังทางด้านหน้าจะน้อย
ระวังด้านซ้าย กำลังทางขวาจะน้อย
ระวังด้านขวา กำลังทางซ้ายจะน้อย
ระวังเสียทุก ๆ ด้าน กำลังทุก ๆ ทางจะบางลง
การที่กำลังน้อยก็ด้วยว่าต้องระวังผู้อื่น
(และตรงกันข้าม) กำลังจะเพิ่มพูนขึ้น
ก็โดยให้ผู้อื่นระวังระไวเรา






ดังนั้น ถ้าเรารู้สถานที่และวันเวลาที่จะรบแล้วไซร้
แม้ว่าเราจะต้องรบข้าศึกในระยะไกลตั้งพัน 'หลี่' ออกไป
เราก็สามารถเข้าทำการชิงชัยได้






ถ้าไม่รู้สถานที่และวันเวลาที่จะต้องรบ
(ครั้นเมื่อถูกโจมตีเข้า)
กำลังปีกซ้ายก็ไม่สามารถเข้าช่วยปีกขวา
กำลังทางปีกขวาก็ไม่สามารถช่วยปีกซ้าย
กำลังทางกองหน้าไม่สามารถเข้าช่วยกองหลัง
และกองหลังก็ไม่สามารถช่วยกองหน้า (การณ์เป็นเช่นนี้)
ก็สาอะไรกับกอง ๆ หนึ่ง
ยังตั้งห่างกันหลายสิบ 'หลี่' ในระยะไกล
หรือหรือหลาย 'หลี่' ในระยะใกล้เล่า






ตามความพิเคราะห์ของข้าฯ
ถึงพลรบของประเทศ 'ยุ-เวะ' (เยียะ) มีมากมาย
จะมีประโยชน์อันใดกับการมีชัยได้ฤา?






เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า
อันชัยชนะอาจสร้างขึ้นได้ (มิใช่สิ่งสุดวิสัย)
แม้นศัตรูจะมีจำนวนมากหลาย
ก็อาจทำให้หมดกำลังสู้รบได้






ด้วยเหตุนี้ ต้องพิจารณาสภาพเราสภาพเขา
เพื่อให้รู้เชิงได้เชิงเสีย
ต้องทำการสอดแนม
เพื่อรู้เบาะแสการเคลื่อนไหวของข้าศึก
ต้องวางกำลังทหารเพื่อรู้แดนเป็นแดนตาย
และต้องฟัดเหวี่ยงประลองดู
เพื่อรู้ว่ากำลังของเราจุดไหนขาดเกินประการใด






ฉะนั้น การจัดทัพอย่างเลิศแล้ว
จะไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็น
เมื่อปราศจากร่องรอยอันใด
แม้จารบุรุษที่ลึกล้ำ
ก็ไม่สามารถเล็งเห็นเจตจำนงของเราได้
แม้เจ้าปัญญา
ก็ไม่สามารถดำเนินกโลบายต่อเราอย่างไร






เนื่องด้วยหยั่งรู้ความลึกตื้นหนาบางของข้าศึก
จึงนำความมีชัยมายื่นให้กองทัพของตน
ถึงเหล่าทวยหาญก็ไม่แจ้งในเหตุแห่งชัยชนะได้
ชนทั่วไปต่างรู้เห็นรูปการณ์ที่เราเอาชนะอยู่
แต่ไม่อาจล่วงรู้ถึงหลักประกันแห่งชัยชนะนั้น ๆ ฉะนี้
วิธีเอาชนะจึงไม่ซ้ำแบบ
และอาจสนองกับเหตุการณ์โดยไม่รู้จักจบสิ้น






ฉะนั้น การใช้กำลังทหาร
จึงเหมือนหนึ่งธรรมชาติของน้ำ
น้ำย่อมหลีกที่สูงไหลสู่ที่ต่ำ
ลักษณะการยุทธก็ย่อมหลีกเลี่ยงด้านที่มีกำลังเข้มแข็ง
ยักย้ายเข้าตีจุดอ่อนแอ
น้ำย่อมจัดกระแสไหลบ่าไปตามลักษณะพื้นภูมิ
การยุทธก็ย่อมเอาชนะกันตามสภาวะของข้าศึก






ฉะนั้น การยุทธจึงไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว
เฉกเช่นน้ำ ซึ่งหามีรูปลักษณะอันแน่นอนไม่
จึงผู้เอาชนะด้วยปฏิบัติการเหมาะสม
กับความผันแปรของข้าศึกนั้น
พึงกล่าวได้ว่า
เขาคือเทพเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ทีเดียว






ฉะนั้น ในกองธาตุทั้ง ๕
ย่อมไม่มีธาตุใดชนะเป็นเยี่ยมในที่สุด
(เช่น ธาตุไฟแพ้ธาตุน้ำ แต่ธาตุน้ำแพ้ธาตุดิน ฯลฯ ผู้แปล)
ฤดูกาลทั้ง ๔ ย่อมไม่มีตำแหล่งที่แน่นอน
แสงตะวันย่อมมีสั้นยาว (ตามฤดูกาล)
ดวงจันทร์ย่อมมีขึ้นปักษ์แรมปักษ์
(ดังเช่นการศึกซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวนั่นแล)
















ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการศึกนั้น เมื่อขุนพลได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์
ระดมพลเรียงค่ายขัดตาทัพไว้
จะไม่มีอะไรยากยิ่งกว่าการดำเนินสัประยุทธ์ชิงชัย






ที่ว่ายากนั้น คือ
จักต้องเปลี่ยนทางอ้อมให้เป็นทางลัด
ขจัดความร้ายให้เป็นผลดี





เพราะฉะนั้น
เพื่อให้เส้นทางเดินทัพ
ของข้าศึกอ้อมหกวกเวียน
จึงต้องล่อด้วยอามิสประโยชน์
ส่วนเราแม้จะเคลื่อนภายหลัง
แต่ก็บรรลุจุดหมายได้ก่อน เช่นนี้
เรียกว่ารู้เงื่อนงำของความอ้อมลัดแล





ด้วยเหตุนี้ การสัประยุทธ์ชิงชัย
จึงเป็นได้ทั้งความสวัสดิภาพ หรือมหันตราย
(สุดแต่ผู้บัญชาการทัพจะดำเนินการอย่างไร)






เบื้องว่า
ยกกำลังทั้งหมดเข้าชิงชัยก็ไม่ทันการ
(เพราะอุ้ยอ้ายใหญ่โต)
ครั้นจะทอดทิ้งกำลังโดยใช้แต่เพียงบางส่วน
ก็จะทำให้สูญเสียซึ่งยุทธสัมภาระ
(เพราะอยู่ล้าหลัง อาจถูกโจมตีได้)






ฉะนั้น การให้รี้พลถอดเกราะออกเสีย
และเร่งรุดเดินทัพในความเร็วเป็นทวีคูณ
โดยมิได้พักผ่อนทั้งกลางวันและกลางคืน
ถ้าเข้าชิงชัยกับข้าศึกในระยะทางร้อย 'หลี่'
นายทัพทั้งสาม (ทัพหน้า ทัพหลวง และ ทัพหลัง)
จะต้องตกเป็นเชลยของข้าศึกทั้งสิ้น
เพราะผู้ที่แข็งแรงจะถึงก่อน ผู้อ่อนแอจะถึงหลัง
กำลังซึ่งถึงจุดจะมีได้เพียง ๑ ใน ๑๐ เท่านั้น
ถ้าเข้าชิงชัยในระยะ ๕๐ 'หลี่' ทัพหน้าก็จะปราชัย
เพราะกำลังพลถึงได้เพียงครึ่งเดียว
ถ้าเข้าชิงชัยในระยะทาง ๓๐ 'หลี่'
กำลังจะถึงระยะเพียง ๒ ใน ๓ เท่านั้น






เพราะฉะนั้น กองทัพจะขาดเสียซึ่งยุทธสัมภาระ
เสบียงอาหาร และสรรพสิ่งเครื่องสำรองไม่ได้
หาไม่แล้วจักต้องแตกพ่ายวางวายแน่นอน






ฉะนั้น ถ้าไม่รู้เจตจำนงของเหล่าเจ้าครองนคร
เราจะผูกไมตรีไว้ไม่ได้
ถ้าไม่รู้ลักษณะภูเขาลำเนาไม้
ที่คับขันลุ่มดอน
ตลอดห้วยหนองคลองบึงบาง
เราจะเดินทัพไม่ได้
ถ้าไม่ใช้มัคคุเทศก์นำทาง
เราจะไม่ได้เปรียบทางพื้นภูมิประเทศ






ฉะนั้น การศึกจึงตั้งบนเล่ห์เหลี่ยมแต้มคู
เคลื่อนไหวเมื่อผลได้
และยังแปรโดยการรวมหรือกระจายกำลัง







ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเร็วเหมือนลมเพชรหึง
เชื่องช้าประหนึ่งแมกไม้ในพงไพร
ราวีเฉกเช่นไฟประลัยกัลป์
หนักแน่นเล่ห์ปานภูผา
ยากที่จะหยั่งรู้ดุจท้องฟ้าอันคลุมเครือ
และไหวตัวดั่งเมื่อสายฟ้าคำรณลั่นสะท้านสะเทือน






(เมื่อเหยียบประเทศข้าศึก)
ได้ลาภสงครามอันใดมา ก็แจกจ่ายรี้พล
ยึดได้พื้นที่ก็แบ่งปันแก่แม่ทัพนายกอง
จะประกอบการอันใด จงชั่งตรองให้ถ่องแท้แน่ใจ






ผู้รอบรู้เงื่อนงำความอ้อมลัด จักชนะ
นี้คือวิธีสัประยุทธ์ชิงชัยแล






ตำราทหารกล่าวไว้ว่า
'ด้วยเหตุไม่สามารถยิน
สรรพสำเนียงที่พูด จึ่งลั่นฆ้องเภรี
ด้วยเหตุที่ไม่สามารถแลเห็นกัน
จึงให้อาณัติสัญญาณธวัช'
อันการฆาตฆ้องกลองและใช้ธวัชนั้น
ก็เพื่อรวมหูตา (ทั้งกองทัพ)
ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง





เมื่อรี้พลมีสมาธิแน่วแน่ฉะนี้
สำหรับผู้ที่กล้าหาญ
ก็จะไม่รุกล้ำไปเบื้องหน้าแต่โดดเดี่ยว
ผู้ขลาดจะไม่ถดถอยตามลำพัง
นี้คือวิธีการบัญชาการทัพใหญ่แล






เพราะฉะนั้น การรบในเวลาค่ำคืน
จึงมากไปด้วยคบไฟและระงมไปด้วยเสียงเภรี
การสัประยุทธ์ในเวลากลางวัน
จึงดาษด้วยสัญญาณธวัช
ทั้งนี้ เพื่อก่อกวนประสาทหูตา
ของข้าศึกให้หลงเลอะนั่นเอง






ด้วยเหตุนี้ เราอาจทำลายขวัญของข้าศึก
และจิตใจของแม่ทัพนายกองให้แหลกลาญได้






(ตามปกติ) ขวัญตอนเช้าย่อมดี (เพราะกำลังสดชื่น)
ถึงเที่ยงก็ทรามด้วยความเกียจคร้าน
ตกเย็นก็โทรมเพราะใคร่จะพักผ่อน
ผู้ชำนาญการศึกจึงหลีกเลี่ยงข้าศึกตอนสดชื่น
และเข้าโจมตีเวลาขวัญข้าศึกทรามหรือโทรมแล้ว
นี้คือวิธีปฏิบัติต่อขวัญทหารแล
จงเอาความมีระเบียบวินัยแห่งตน
คอยจู่โจมเมื่อข้าศึกอลวนวุ่นวาย






จงเอาการสงบนิ่ง
ตอบสนองความเอะอะมะเทิ่ง
นี้คือวิธีรักษากำลังจิตใจแล






จงเอาความใกล้ (ต่อสมรภูมิ)
ของเราคอยรับข้าศึกซึ่งต้องเดินไกล
จงเอาความสดชื่นของเรา
สู้ศึกซึ่งอิดโรยเมื่อยล้า
จงเอาความอิ่มหนำสำราญของเรา
รับมือข้าศึกที่หิวโหย
นี้คือวิธีถนอมกำลังแล






จงอย่าเข้าตีขบวนทัพ
ซึ่งมีทิวธวัชถะถั่นเป็นระเบียบ
จงอย่าจู่โจมป้อมค่ายแนวรบของปรปักษ์
ที่ตั้งเป็นสง่าน่าเกรงขาม
นี่คือวิธีป้องกันมิให้เกิดเภทภัยแล





เพราะฉะนั้น วิธีสัประยุทธ์มีอยู่ว่า
อย่าแหงนหน้าเข้าตีข้าศึกซึ่งตั้งบนที่สูง
อย่ารุกพุ่งข้าศึกที่อิงสันเขาเป็นที่มั่น





อย่าไล่กระชั้นข้าศึก
ซึ่งทำทีว่าแตกระส่ำ
อย่ากระหน่ำข้าศึก
เมื่อเขาขวัญดีและเหี้ยมหาญ






อย่าทะยานฮุบเหยื่อเมื่อเขาทอดให้
และไม่ควรรั้งทัพศึกที่รีบรุกจะถอนคืน






การล้อมทัพข้าศึก
จำเป็นต้องเปิดทางไปไว้ทางหนึ่ง
(นี่คงหมายถึงการรบในที่กว้าง มิใช่การล้อมเมือง - ผู้แปล)
เมื่อทัพศึกจนตรอกแล้ว
ก็อย่าได้รุกกระหน่ำประชิดเข้าไป
(เพราะเมื่อเขาไม่มีทางไป
ก็จะหันหน้าสู้อย่างไม่คิดชีวิต)






นี่คือวิธีสัประยุทธ์แล














ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการศึกนั้น เมื่อขุนพลได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์
และระดมพลชุมนุมทัพแล้ว






อย่าได้ตั้งค่ายในที่ทุรลักษณ์






ความผูกพันไมตรีกับแว่นแคว้นที่อยู่ทางแพร่ง
(คือประเทศเป็นกลางอันตั้งอยู่ระหว่างเรา
และประเทศที่สาม อื่น ๆ
เพราะเป็นศูนย์กลางคมนาคม
การมีพันธะกันไว้
ย่อมเอื้ออำนวยประโยชน์อนันต์)






อย่าอ้อยอิ่งแช่ดองในแดนทุรกันดาร






เมื่ออยู่ในที่ล้อมจงเร่งขวนขวายหาทางออก
หากพลัดเข้าอยู่แดนตาย(อับจน)
จงรีบเร่งทุ่มเทกำลังเข้าสู้รบ
(เพื่อถอนตัวให้หลุดจากที่นั้น)






บางวาระอาจไม่เดินทัพตามเส้นทางที่ควรไป





และอาจจะไม่ตีทัพข้าศึกบางกองบางหน่วย





เมืองด่านของข้าศึกบางแห่งเราก็ไม่เข้าโจมตี





บางถิ่นบางที่เราไม่เข้ายุทธแย้งชิงชัยด้วย





บางครั้ง พระบรมราชโองการ
ก็ไม่พึงรับสนองเสมอไป
(เพราะผู้เป็นขุนพลต้องปฏิบัติการรบ
ให้สมคล้อยตามรูปการณ์ของสงครามโดยเสรี)





เพราะฉะนั้น
ขุนพลแจ้งในคุณานุคุณแห่งนานาวิการ
(ความเปลี่ยนแปลงบิดเบือนต่าง ๆ
อันมิได้เป็นไปตามที่ควรเป็น)
จึงนับได้ว่ารู้การศึก
ขุนพลผู้ไม่แจ้งในหลักนานาวิการ
แม้จะรู้ลักษณะภูมิประเทศดี
ก็ไม่อำนวยผลประโยชน์อย่างไรเลย
และในการบัญชาทัพ
หากไม่รู้วิธีการสู้รบต่อนานาวิการแล้วไซร้
แม้ซาบซึ้งถึงความได้เปรียบแห่งภูมิประเทศ
ก็ไม่อาจใช้กำลังพลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย





ด้วยเหตุนี้ ความใคร่ครวญของผู้ทรงปัญญา
จึงทบทวนอยู่ในระหว่างคุณ-โทษ ผลได้-ผลเสีย





ถ้าทบทวนเห็นคุณหรือผลได้
(ในโทษหรือผลเสีย)
ความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จ
ในกิจการงานก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ถ้าทบทวนเห็นโทษหรือผล
(ในคุณหรือผลได้)
เภทภัยอันอาจเกิดขึ้น
ก็จักแก้ไขกันทันท่วงที





เพราะฉะนั้น
จะให้เหล่าประเทศราชหมอบราบคาบแก้วได้
ก็ด้วยให้เห็นภัยโทษ
จะช่วงใช้ก็ด้วยมอบภารกิจ
จะจูงจิตใจให้ฝักใฝ่ต่อเรา
ก็ด้วยกอบเกื้ออามิสประโยชน์






เพราะฉะนั้น ในการศึกนั้น
อย่าวางใจข้าศึกจะไม่มาราวี
แต่พึงยึดมั่นในการเตรียมพร้อมของฝ่ายตน
อย่าวางใจว่าข้าศึกจะไม่จู่โจม
แต่พึงยึดมั่นในความแข้งแกร่งมั่นคงของเราเอง





เพราะฉะนั้น ผู้นำทัพ
จึงมีจุดอันตราย ๕ ประการ คือ

ผู้ที่คิดแต่สู้ตายถ่ายเดียว
อาจถูกหมายเอาชีวิตได้





ผู้ที่คอยแต่รักษาตัวรอด
อาจถูกจับกุมเป็นเชลย





ผู้ที่หุนหันพลันแล่น
อาจได้รับการยั่วเย้ารำคาญ





ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน
(ถืออุดมคติเกินไป)
อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้





ผู้ที่รักพสกนิกร
มักได้รับความยุ่งยากใจ





บรรดาจุดอันตรายทั้ง ๕ นี้
เป็นปมด้อยของผู้นำทัพ
เป็นมหันตภัยของการทหาร
ทัพจะล่ม ขุนพลจะถูกเข่นฆ่า
ด้วยจุดอันตรายทั้ง ๕ นี้
ควรใช้ความพิเคราะห์จงหนักทีเดียว







BACK INDEX TOP NEXT
home"

ไม่มีความคิดเห็น: