วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ตำราพิชัยสงครามซุนวู 9-13

ตำราพิชัยสงครามซุนวู 9-13: "BACK INDEX BOTTOM









ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการคุมทัพและพินิจความศึกนั้น





ถ้าเดินทัพข้ามภูเขา
จักต้องเดินตามหุบห้วยละหาน
ถ้าอยู่ในคมนาคมสะดวกต้องตั้งทัพในที่สูง
ถ้าข้าศึกตั้งอยู่ในที่สูงชัน
ก็อย่าได้พยายามตีฝ่าขึ้นไป
นี้คือคุมทัพในที่ดอยแล





ถ้าเดินทัพข้ามแม่น้ำ
ต้องรีบเร่งให้ห่างสายน้ำนั้นทันที
ถ้าฝ่ายข้าศึกข้ามแม่น้ำมา
ก็อย่าได้เข้าปะทะกันกลางน้ำ
ต้องรอให้อยู่ในสะเทินน้ำสะเทินบก
จึงโหมกำลังตีโดยฉับพลัน
(อนึ่ง) การยุทธนั้นอย่าได้เรียงค่าย
ตามฝั่งแม่น้ำคอยรับทัพศึก
พึงตั้งทัพลงบนที่สูงซึ่งมีการคมนาคมสะดวก
และ (ครารุกไล่) ก็อย่าได้อยู่ในตำแหน่งที่ทวนน้ำ
นี้คือการคุมทัพในลำน้ำแล





ถ้าเดินทัพในที่ลุ่มซึ่งเป็นเนื้อดินเค็ม
ต้องเร่งรุดข้ามไปโดยพลัน
ถ้าเกิดปะทะกับข้าศึกในที่เช่นนี้
ต้องหันหลังเข้าอิงป่า
และต้องทอดค่ายตามที่ซึ่งมีพืชน้ำจืดอยู่
นี้คือการคุมทัพในที่ลุ่มแล






ถ้าอยู่ในที่ราบ
ต้องเลือกชัยภูมิที่อำนวยความได้เปรียบ
คือปีกขวาอิงเนินสูง เบื้องหน้าเป็นแดนตาย
(เช่นห้วงน้ำหรือหน้าผา ฯ,ฯ เพื่อข้าศึกยกเข้าตียาก)
เบื้องหลังเป็นแดนเป็น (คมนาคมสะดวก)
นี้คือการคุมทัพในที่ราบแล





อันความได้เปรียบในการคุมทัพ ๔ ประการคือ
(จอมกษัตริย์สมัยดึกดำบรรพ์ของจีน - ผู้แปล)
ชำนะกษัตริย์อื่น ๆ ตลอดทั้ง ๔ ทิศแล





อันการตั้งทัพชอบที่จะอยู่ที่สูง พึงรังเกียจที่ต่ำ
เหมาะที่หันสู่ทิศโปร่ง(อาคเนย์)
แต่รังเกียจทิศทึบ (ทิศพายัพ)
ต้องตั้งอยู่ในที่ถูกสุขลักษณะมีอาหารของใช้อุดม
เมื่อรี้พลปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว
ย่อมกล่าวได้ว่าจักต้องมีชัยแน่นอน





ถ้าตั้งทัพตามสันเนินหรือบนทำนบกั้นน้ำ
ต้องเลือกอาคเนย์ และทอดปีกขวาอิงไว้
จะได้เปรียบทั้งทางการยุทธและพื้นภูมิแล





หากฝนเหนือตกชุกมีฟองน้ำลอยฟ่องมา
(เป็นสัญญาณว่าน้ำจะหลาก)
เมื่อจะลุยข้ามห้วยน้ำนั้น ควรรอให้ระดับน้ำนั้นแน่เสียก่อน
(มิฉะนั้นข้ามไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ
เมื่อน้ำทะลักมาจนเชี่ยวกราก อาจประสบหายนะ)





อันภูมิประเทศย่อมมีลักษณะต่าง ๆ กัน
เช่น มีหุบห้วยอันมีหน้าผาสูงชัน
ที่ลุ่มซึ่งเหมือนอยู่ก้นบ่อ
ถิ่นที่มีป่าเขาล้อมรอบ (ยากแก่การเข้าออก)
รกชัฏเต็มไปด้วยขวากหนาม เหมือนข่ายธรรมชาติ
ที่หล่มเต็มไปด้วยโคลนเลน
และทางแคบซึ่งมีหุบเหวขนาบขนานอยู่
สถานที่เช่นนี้
เมื่อประสบพบเข้าต้องรีบรุดออกห่างทันที
อย่าได้กรายใกล้มันเลย
(ถ้าเกิดสัประยุทธ์ขึ้น) เราต้องผละห่างจากมัน
โดยต้องให้ข้าศึกเข้าประชิด หรือให้มันอยู่เบื้องหน้าเรา
แต่ขวางอยู่เบื้องหลังข้าศึก





ถ้าริมทางเป็นที่วิบาก หรือสระหนองหุบห้วย
หรือพงอ้อกอแขม หรือแนวป่าหมู่ไม้
หรือที่ไพรพฤกษ์รกทึบ
ต้องตรวจค้นอย่างระแวดระวัง
เพราะสถานที่เช่นนี้มักเป็นที่ซุ่มทัพ
หรือที่ซ่อนตัวของกองสอดแนมฝ่ายข้าศึก





(เมื่อสองทัพเข้าประชิดกัน)
ฝ่ายข้าศึกยังคงสงบเงียบ นั่นหมายถึงเขาวางใจ
ในความได้เปรียบแห่งชัยภูมิของเขา
ถ้าทัพข้าศึกมาท้ารบแต่ทางไกล
เขาประสงค์จะให้ฝ่ายเรารุกไล่ติดตามไป
ถ้าข้าศึกตั้งทัพในที่ง่ายต่อการโจมตี
นั่นเขาทอดเหยื่อล่อแล





ถ้าเห็นหมู่ไม้ไหวต้น
นั่นแสดงว่าข้าศึกยกมาแล้ว
ถ้าเห็นผูกหญ้าคาพรางไว้มากหลาย
นั่นเขาประสงค์จะให้เราเกิดสนเท่ห์ใจ





ถ้าเห็นหมู่นกตกใจบินถลาขึ้น
แสดงว่ามีทหารซุ่มอยู่
ถ้าเห็นเหล่าสัตว์แตกกระเจิดกระเจิง
แสดงว่ามีกองจู่โจมซ่อนอยู่แล





ถ้าเห็นฝุ่นตลบสูงเป็นลำแหลม
แสดงว่ากองรถข้าศึกวิ่งตะลุยมา
ถ้าต่ำและปริมณฑลกว้าง
เป็นการเดินทัพของพลราบ
ถ้ากระจายเป็นหย่อม ๆ เป็นลำ ๆ
แสดงว่าเป็นการเก็บผักหักฟืนของกองเกียกกาย
ถ้าฝุ่นมีเพียงบาง ๆ เคลื่อนไหวไปมา
แสดงว่าข้าศึกกำลังตั้งค่าย





(ถ้าข้าศึกส่งทูตมาติดต่อ)
วาจาถ่อมแต่เร่งรุดในการเตรียม
แสดงว่าจะมีการรุก
ถ้าพาทีอหังการมีท่วงทีประหนึ่งจะตะลุมบอนด้วย
แสดงว่าจะถอนทัพ
ถ้าขอสงบศึกด้วยวาจา
มิได้มีหนังสือรับรองเป็นกิจจะลักษณะ
แสดงว่าเป็น กลศึก





ถ้าเห็นกองรถเบาของข้าศึกขับแยกออกทางปีก
แสดงว่ากำลังแปรขบวนทัพ (ซึ่งจะมีการสัประยุทธ์กัน)
ถ้าเห็นข้าศึกวิ่งทบไปมาและขยายกำลัง
แสดงว่า กำลังเตรียมพร้อมในการรับมือ
ถ้ามีท่าทีถอยแต่มิใช่ หมายความว่ามีเชิง
แสดงว่าจะล่อให้หลงกล





ถ้าเห็นทหารข้าศึกยืนแซ่วโดยใช้อาวุธยันกาย
แสดงว่าหิวโหย
ถ้าเห็นตักน้ำแล้วรีบดื่มก่อน
แสดงว่ากระหาย
ถ้าข้าศึกเห็นความได้เปรียบแต่ไม่ยักรุกเอา
แสดงว่าเหนื่อยล้าอิดโรยแล้ว





ถ้าเห็นหมู่วิหควกบินลงจับกลุ่ม
แสดงว่าเป็นที่เปล่าปลอดคนแล้ว
ถ้าได้ยินเสียงข้าศึกกู่ก้องร้องขานในเพลาค่ำคืน
แสดงว่าข้าศึกมีความขลาดกลัว
ถ้าสังเกตว่าค่ายข้าศึกมีความอลวนไม่เป็นระเบียบ
แสดงว่าแม่ทัพนายกองไม่เป็นที่เลื่อมใสของเหล่าพล
ถ้าเห็นธงทิวเคลื่อนไหวไม่เป็นระเบียบ
แสดงว่าระส่ำระสาย
ถ้าเห็นจ่าทหารดาลเดือดดุด่า
แสดงว่าพลทหารเหนื่อยอ่อน





ถ้าข้าศึกฆ่าม้ากิน แสดงว่ากองทัพขาดแคลนเสบียงอาหาร
ถ้าเที่ยวแขวนภาชนะเครื่องหุงต้มทิ้งไว้โดยไม่กลับค่ายอีก
แสดงว่าข้าศึกได้ตกเป็นหมู่โจรอันจนตรอกแล้ว





แม่ทัพนายกองพูดจากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเชื่องช้า
ซ้ำซาก ทั้งกิริยาก็เซื่อง ๆ ไม่มีผึ่งผาย
แสดงว่ากองทัพนั้นขาดความสามัคคี
ถ้ามีการปูนบำเหน็จรางวัลกันครั้งแล้วครั้งเล่า
แสดงว่าจนต่อการควบคุมบังคับบัญชา
(จึงใช้วิธีนี้เหนี่ยวรั้งน้ำใจรี้พล)
ถ้ามีการทำโทษบ่อยครั้งติดกัน
แสดงว่าแม่ทัพนายกองยุ่งยากใจต่อการคุมพลปานใด
ถ้าโหดเหี้ยมดุร้ายในเบื้องต้น
แต่ภายหลังกลับมีอาการหวาดระแวงในรี้พลของตนเอง
นั่นแสดงว่าเป็นผู้นำที่บรมเลวทีเดียว





ถ้าข้าศึกส่งเครื่องบรรณาการมา
แสดงว่าต้องการพักรบ
ถ้าข้าศึกยกมาตั้งรับอย่างฮึกเหิม
แต่ตั้งอยู่นานวันโดยมิยุทธแย้งด้วย
และก็ไม่ยกไปเสีย
ความศึกเช่นนี้พึงพิเคราะห์จงหนักแล





อันพลรบนั้น มิใช่สำคัญที่จำนวนมาก
ถึงจะไม่มีการรุกพิฆาตอันเกริกก้อง
แต่รู้จักชุมนุมกำลังเป็นอย่างดี
พิเคราะห์ความศึกได้ถูกต้องแม่นยำ
และเข้ารอนรานข้าศึกได้
ก็เป็นเพียงพอแล้ว
มีแต่ผู้คุมทัพที่ไร้ความคิดและหมิ่นข้าศึกเท่านั้น
ที่ไม่แคล้วต้องตกเป็นเชลยแน่นอน





การลงโทษทัณฑ์ทหาร
ที่ยังไม่มีความเชื่อถือในผู้บังคับบัญชา
ย่อมจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง
เมื่อปรากฏความกระด้างกระเดื่องแล้ว
ย่อมยากต่อการช่วงใช้





ถ้าพลทหารมีความเชื่อถือดี
แต่ผู้บังคับบัญญาไม่ทำโทษในเวลาพึงมี
(เหล่าพลก็จะกำเริบเสิบสาน)
กองพลเช่นนี้จะใช้ในการสัประยุทธ์ไม่ได้




เพราะฉะนั้น การบังคับบัญชาทัพ
จงตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม
แต่ปรับให้เข้าแถวแนวด้วยอาชญา
นี้คือกองทัพพิชิตแล





ในเวลาปกติ คำสั่งของมุขบุรุษ
ได้รับการปฏิบัติตามเป็นอย่างดี
เมื่อฝึกสอน (วิชาการทหาร) แก่เหล่าพสกนิกร
เขาก็จะเลื่อมใส
หากคำสั่งของมุขบุรุษ
มิได้รับการปฏิบัติอย่างครบถ้วน
เมื่อฝึกสอน (วิชาการทหาร) แก่เหล่าพสกนิกร
เขาย่อมไม่เลื่อมใสเป็นธรรมดา
ฉะนั้น การบังคับบัญชาซึ่งได้รับการปฏิบัติด้วยดีนั้น
แสดงว่ามุขบุรุษได้รับความไว้วางใจจากหมู่ชนแล้ว














ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
ลักษณะพื้นภูมินั้น
มีที่สัญจรสะดวก
มีที่แขวน มีที่ยัน มีที่แคบ
มีที่คับขัน และมีที่คั่นไกล





ถ้าเป็นพื้นภูมิที่เรายกไปได้
และข้าศึกก็ยกมาได้
เรียกว่าที่สัญจรสะดวก
ในที่สัญจรสะดวก ฝ่ายเราต้องรีบยกเข้าตั้ง
ยังที่สูงโปร่ง (หันสู่ทิศอาคเนย์) ก่อน
และต้องรักษาเส้นทางลำเลียงอาหารให้ดี
เมื่อเข้าสัประยุทธ์ชิงชัยจักได้ชัยชนะ





ถ้าเป็นพื้นภูมิที่เราไปได้แต่กลับยาก
เรียกว่าที่แขวน (ลาดชัน)
ในที่แขวน หากข้าศึกไม่ได้เตรียมพร้อม
เราเข้าโจมตีจักได้ชัยชนะ
ถ้าข้าศึกเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
เมื่อเรายกเข้าตีแล้วยังไม่สามารถชนะ
จะยากต่อการถอยกลับ ไม่ดีแล





ถ้าเป็นพื้นภูมิที่เราไม่ได้เตรียมยกออก
ข้าศึกก็ตกอยู่ในฐานะเช่นเดียวกัน เรียกว่าที่ยัน
ในที่ยัน หากข้าศึกเปิดช่องให้ด้วยกลล่อ
เราอย่าได้ยกออกเลย จงถอยค่ายไปเสีย
รอเมื่อข้าศึกเคลื่อนทัพออก
ติดตามได้ครึ่งหนึ่งจึงเข้าโจมตี
จักได้ชัยชนะ





ในพื้นภูมิที่แคบ เราเข้าตั้งมั่นก่อน
ต้องชุมนุมกำลังเพื่อคอยทัพศึก
หากข้าศึกเข้าตั้งเสียก่อนและมีกำลังสมบูรณ์
จงหลีกเลี่ยงการยุทธเสีย
รอเมื่อกำลังข้าศึกพร่องแล้ว
จงยกเข้าโจมตีเทอญ





ในพื้นภูมิที่คับขัน ถ้าเราเข้าตั้งอยู่ก่อน
จงตั้งทัพยังที่สูงโปร่ง (หันสู่ทิศอาคเนย์)
เพื่อคอยรับข้าศึก
หากข้าศึกเข้าตั้งเสียก่อน
จงถอนค่ายมาเสีย อย่าได้เข้าชิงชัยเลย





ในพื้นภูมิที่คั่นไกล
และกำลังทั้งสองฝ่ายต่างไล่เลี่ยกัน
ย่อมยากต่อการท้ารบ
ถึงรบก็จะเสียเปรียบ





บรรดาพื้นภูมิทั้ง ๖ ประการดังกล่าวนี้
เป็นหลักแห่งภูมิศาสตร์
ขุนพลผู้แบกภาระอันใหญ่หลวง
ชอบที่พิเคราะห์จงดี





เพราะฉะนั้น ในการศึกนั้น
จึงมีกองทัพที่มุ ที่หย่อน ที่ล่ม ที่ทลาย
ที่ระส่ำระสาย และที่แตกพ่ายปราชัย
ทั้ง ๖ ประเภทนี้
มิใช่เป็นเคราะห์กรรมธรรมชาติบันดาลให้เป็นไป
หากเป็นความผิดของผู้นำทัพเอง





อันว่ากำลังทั้งสองฝ่ายไล่เลี่ยกัน
กลับเอากำลังเพียง ๑ เข้าตี ๑๐
นี้เรียกว่า ทัพมุ





เหล่าพลเข้มแข็ง แต่จ่าขุนอ่อนแอ
นี้เรียกว่า ทัพหย่อน
ถ้าจ่าขุนฮึกห้าวแต่เหล่าพลอ่อนแอ
นี้เรียกว่า ทัพล่ม





แม่ทัพนายกองมีเหตุโกรธเคือง
ไม่เลื่อมใสในตัวขุนพล
เมื่อปะทะข้าศึกก็ออกรบ
ด้วยความฉุนเฉียวตามลำพังโดยพลการ
ทั้งขุนพลก็ไม่ทราบความสามารถของเขา
นี้เรียกว่า ทัพทลาย





ขุนพลอ่อนแอไม่เด็ดขาด
วิธีฝึกพลก็ไม่กระจ่างแจ้ง
ทั้งยักย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งจ่าขุนไม่หยุดหย่อน
ครั้นเวลาแปรขบวนทัพก็หันรีหันขวาง
นี้เรียกว่า ทัพระส่ำระสาย





ขุนพลไม่สามารถพินิจความศึกได้ถูกต้อง
จึงใช้กำลังน้อยเข้าตีกำลังมาก
เอาทหารอ่อนแอเข้าตีจุดเข้มแข็ง
ทั้งทัพหน้าก็มิได้คัดเลือกพลรบที่ชาญฉกรรจ์เข้าประจำ
นี้เรียกว่า ทัพพ่าย





บรรดาทัพทั้ง ๖ นี้ มีทางแห่งความปราชัย
ขุนพลผู้แบกภาระอันยิ่งใหญ่ จึงควรพินิจจงดี





อันลักษณะพื้นภูมินั้น
เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยเหลือในการศึกเท่านั้น
การพินิจพิเคราะห์การศึก และหาหนทางไปสู่ความมีชัย
ตลอดจนการคำนวณความคับขันใกล้ไกลเหล่านี้
จะเป็นคุณลักษณะโดยแท้ของผู้เป็นขุนพล





รู้หลักนี้และปฏิบัติต่อการยุทธ จึงจะชนะ
ถ้าไม่รู้จัก เข้าสัประยุทธ์
จักต้องพ่ายแพ้แน่นอน





ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์ตามหลักยุทธศาสตร์ว่าจักต้องชนะ
แม้มุขบุรุษจะกล่าวว่าอย่ารบ ก็พึงรบเถิด
ถ้าพิเคราะห์ผ่านหลักยุทธศาสตร์
เห็นว่าไม่มีท่าทีจะเอาชนะได้
แม้มุขบุรุษจะบัญชาให้รบ ก็อย่าได้รบเลย





ฉะนั้น ขุนพลผู้เข้ารับภารกิจทางทหาร
มิใช่ผู้ประสงค์จะแสวงหาชื่อเสียง
และเมื่อยับยั้งถอนตัวก็มิใช่ด้วยเกรงอาญาโทษทัณฑ์
เขามีเจตจำนงแน่วแน่แต่จะคุ้มครองเหล่าพสกนิกร
และอวยประโยชน์แก่ผู้เป็นนาย
ขุนพลเช่นว่านี้คือมิ่งขวัญของประเทศชาติแล





ปฏิบัติต่อรี้พล ต้องเยี่ยงมารดาถนอมลูกอ่อน
จึงอาจนำทัพไปสู่หุบห้วงมหันตราย
ถ้าปฏิบัติเช่นบิดาที่รักบุตร จึงกอดคอกันตายได้





หากว่าชุบเลี้ยงอย่างถึงขนาดแล้ว
แต่ไม่สามารถช่วงใช้ได้
รักอย่างสุดใจ แต่ไม่อยู่ในบังคับบัญชา
คราวทำผิดระเบียบวินัยก็ไม่อาจลงโทษทัณฑ์กัน
เหล่าพลเช่นนี้เปรียบเหมือนบุตรที่กำเริบเสิบสาน
ใช้ทำศึกไม่ได้เลย





รู้กำลังฝ่ายตนพอเข้าตีได้
แต่ไม่ทราบว่าข้าศึกจักตีได้หรือยังก็ดี
หรือรู้ว่าข้าศึกอาจตีเอาได้
แต่ประมาณไม่ถูกว่ากำลังตน
เพียงพอแล้วหรือไฉนก็ดี
หรือแม้จะรู้ว่าข้าศึกพึงตีเอาได้
แต่มิรู้ว่าลักษณะพื้นภูมิ
ไม่อำนวยผลในการรบก็ดี
ทั้งนี้ นับว่าชนะเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น





ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการศึก
ปฏิบัติการอันใดย่อมไม่ผิดพลาด
ดำเนินการยุทธย่อมไม่มีทางอับจน
จึงกล่าวได้ว่า รู้เขารู้เรา ชัยชำนะจักไม่พลาด
หยั่งรู้ดินฟ้าอากาศ ชัยชนะจักสมบูรณ์แล













ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
พื้นภูมิในการทำศึกนั้น มี
อุทธัจจภูมิ๑ ลหุภูมิ๑ อุกฤษฏ์ภูมิ๑
สัญจรภูมิ๑ มรรคภูมิ๑ ครุภูมิ๑
ทุรภูมิ๑ บัญชรภูมิ๑ มรณภูมิ๑





ข้าศึกรุกเข้าโจมตีในแดนเรา
เรียกว่า เรียกว่าอุทธัจจภูมิ





กองทัพฝ่ายเราล่วงล้ำเข้าไป
ในแดนข้าศึกเพียงผิวเผิน
นั้นเรียกว่า ลหุภูมิ




พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดยึดได้
ย่อมอวยผลทางยุทธการ
เรียกว่า อุกฤษฏ์ภูมิ





พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดก็ไปมาได้โดยสะดวก
เรียกว่า สัญจรภูมิ





ประเทศราชใดมีเขตแดนต่อเนื่องหลายประเทศ
ผู้ใดถึงก่อนย่อมได้รับความสนับสนุนจากชนทั่วไป
เรียกว่า มรรคภูมิ





พื้นที่ซึ่งฝ่ายเรารุกลึกเข้าไป
เบื้องหลังเราได้ผ่านด่านตั้งขวางมากหลาย
เรียกว่า ครุภูมิ





ในแดนโขดเขาลำเนาไม้ หรือที่วิบาก
หรือห้วยหนองคลองบึงบาง
และวิถีทางอันยากแก่การสัญจรทั่วไป
เรียกว่า ทุรภูมิ





ปากทางที่จะเข้านั้นแคบ
คราวถอยต้องอ้อมวกเป็นระยะทางไกล
พื้นที่เช่นนี้ข้าศึกย่อมใช้กำลังส่วนน้อย
โจมตีกำลังส่วนใหญ่ของเราได้
เรียกว่า บัญชรภูมิ





ในพื้นที่ที่ต้องรบพุ่งอย่างอุตลุดรวดเร็วจึ่งจะพ้นภัย
มิฉะนั้นจะต้องถึงแก่ล่มทัพ
เรียกว่า มรณภูมิ





เพราะฉะนั้น จึ่งหลีกเลี่ยงในอุทธัจจภูมิ
แต่รุกตะลุยไปในลหุภูมิอย่าหยุดยั้ง





จงอย่าวู่วามเข้าตีอุกฤษฏ์ภูมิ
และอย่าได้สะกัดกั้นข้าศึกในสัญจรภูมิ





พึงผูกไมตรีกับประเทศซึ่งเป็นมรรคภูมิ
และเมื่อตกอยู่ในครุภูมิแล้ว
พึงกวาดเก็บเสบียงอาหาร (เพื่อเลี้ยงกองทัพ)





ในทุรภูมิ จงรีบเดินทัพผ่านไป
หากตกอยู่ในบัญชรภูมิ
ก็ต้องคิดแก้ไขหักออกด้วยกลอุบาย
ถ้าอยู่ในมรณภูมิจงรีบรบเพื่อเอาตัวรอด





อันผู้ใดได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญศึกในบรรพกาล
ท่านย่อมสามารถทำให้
ทัพหน้าทัพหลังของข้าศึกขาดจากกัน
กองใหญ่กองย่อยต่างไม่คิดพึ่งพิงกัน
นายไพร่ไม่มีจิตช่วยเหลือกัน
ผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่ถ้อยทีออมชอมกัน
เหล่าพลแตกแยกมิเป็นส่ำ
แม้จะชุมนุมพลไว้พรักพร้อม
ก็ขาดความสามัคคี





ท่านย่อมปฏิบัติการเมื่อเห็นผล
และระงับเมื่อเห็นผลยังไม่อำนวย





หากตั้งปุจฉาว่า
'เมื่อข้าศึกพรักพร้อม
ไหลหลั่งถะถั่นมา ควรปฏิบัติดังฤา?'
เฉลยว่า 'ควรช่วงชิงจุดสำคัญ
ซึ่งข้าศึกประสงค์เสียก่อน'
นี้จะทำให้ข้าศึกจำต้อง
คล้อยตามยุทธกระบวนของเรา
อันการศึกนั้นสำคัญที่ฉับไว
จึ่งเอาความไม่ประมาทของเรา
เข้าจู่โจมจุดที่ข้าศึกขาดความระวัง






อันกองทัพตีเข้าไปในแดนข้าศึก
ยิ่งรุกลึกเข้าไป เหล่าพลก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวขึ้น
แต่ฝ่ายรับจะอลวนคุมกันไม่ติด
(เพราะถูกรังควาญถึงถิ่นตน)
ฝ่ายรุกเมื่อเก็บกวาดเสบียงอาหาร
ในแดนสมบูรณ์ได้แล้ว
จงเลี้ยงดูทวยหาญให้อิ่มหมีพีมัน
อย่าใช้ตรากตรำงานหนัก
ออมกำลังและบำรุงขวัญไว้จงดี
คราวจะใช้กำลังทหารหรือกะการณ์ใด ๆ
พึงเป็นไปอย่างลึกล้ำคาดไม่ถึง
(เมื่อฉะนี้) จะต้อนพลเข้าสู่ที่อับจน
แม้ตายก็ไม่แพ้
เมื่อความตายยังไม่อาจเอาชนะได้
รี้พลจึงนับได้ว่าอุทิศกำลังงานอย่างเต็มที่





อันวิสัยของเหล่าพลนั้น
เมื่อตกอยู่ในที่ล้อมความกลัวก็หมดไป
ถ้าเข้าที่คับขันก็รวมกันอย่างแน่นแฟ้น
เมื่อรุกลึกเข้าไปก็จะสมัครสมานร่วมมือกัน
และยอมรบอย่างเด็ดเดี่ยวเมื่อถึงคราวจำเป็น





ด้วยเหตุนี้ เหล่าพล
(ของฝ่ายที่รุกลึกเข้าไปในแดนของข้าศึก)
ไม่ต้องกระตุ้นเตือนก็จักระมัดระวังตัวไม่ประมาท
เชื่อฟังคำสั่งโดยไม่ต้องเรียกร้อง
รักชิดสนิทชอบโดยไม่ต้องมีสิ่งรัดรึง
ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนโดยไม่ต้องพร่ำสั่ง
จงขจัดปัดเป่าเสียซึ่งความเชื่อถือ
ในโชคลางและคำเล่าอ้าง
เหล่าพลจะรบจนสุดใจไม่เปลี่ยนแปรเลย





อันเหล่าพลของเราไม่เก็บออมทรัพย์สิน
จะด้วยเกลียดการมีทรัพย์ก็หาไม่
เหล่าพลยอมมอบกายถวายชีวิต
จะด้วยเกลียดการมีชีวิตยืนยาวนานก็หาไม่
(แต่ที่สละเสียได้ก็เพราะความเด็ดเดี่ยวมั่นคงนั่นเอง)





ในวันที่ผู้บัญชาการสั่งทัพ
เหล่าพลที่นั่งได้น้ำตาจะชุ่มเสื้อ
ส่วนผู้ที่ล้มหมอนนอนเสื่อน้ำตาจะนองหน้า
(ด้วยเสียใจตนเองที่บาดเจ็บหรือป่วยไข้
ไม่สามารถไปรบศึกกับเขาได้)





(เหล่าทหารเช่นว่านี้)
หากใช้ไปปฏิบัติงานในที่คับขันปานใด
เขาก็แสดงความกล้าหาญชาญชัย
เยี่ยงจวนจู (๑*) และเฉากุ้ย
(๒**)ให้ประจักษ์เป็นแม่นมั่น







เพราะฉะนั้น
การนำทัพของผู้ชำนาญการศึก
จึงเปรียบเช่นไสว้หยาน
ไสว้หยานคืออสรพิษแห่งหุบเขาฉางซาน
เมื่อถูกตีด้านหัว หางจะตวัดถึงทันที
ถ้าถูกตีทางหาง หัวจะแว้งกัดโดยฉับพลัน
ถ้าถูกตีกลางตัว หัวและหางจะตลบถึงทั้งสองข้าง





ถ้าตั้งปุจฉาว่า
'กองทัพก็อาจทำให้เหมือน
ไสว้หยานแหละหรือ?'
ตอบว่า 'ทำได้'
อันชาวหวูกับชาวเยียะเป็นอริกัน
แต่ขณะที่ร่วมสำเภาและประสบมรสุม
เขาจักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ดังหนึ่งแขนซ้ายและแขนขวาทีเดียว





ด้วยเหตุนี้ การที่ผูกม้ารบติดกัน
ให้รวมกลุ่มฝังล้อรถลงดินไว้
(อุปมาการตะล่อมผูกรัดเหล่าทหาร
ให้อยู่ในระเบียบวินัยมั่นคง)
จึงเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้เลย
จำเป็นต้องให้เหล่าพล
มีความกล้าหาญสม่ำเสมอกัน
นี้เป็นหลักของการนำทัพ รู้จักสมคล้อย
ถือประโยชน์จากสภาพลุ่มดอนแห่งพื้นที่
นี้เป็นทฤษฎีทางภูมิศาสตร์
เพราะฉะนั้น
การนำทัพของผู้เชี่ยวชาญการศึก
อุปมาดั่งจูงคน ๆ เดียวให้ปฏิบัติงานได้นั้น
เนื่องจากเข้าใจบ่มก่อ
ความจำเป็นให้เกิดขึ้นนั่นเอง





คุณสมบัติของผู้บัญชาการทัพ
คือ ความเยือกเย็นสุขุม
และความเที่ยงธรรมมีระเบียบ





สามารถพรางหูตาของเหล่าพล
ไม่ให้รู้อะไรเลย





(ในด้านปฏิบัติต่อข้าศึก)
รู้จักยักย้ายวิธีดำเนินการ
และเปลี่ยนแปลงยุทโธบาย
เพื่อให้ข้าศึกตกอยู่ในความมืดมน
หรือแปลงที่ตั้งอ้อมวกวิถีทางเดิน
เพื่อมิให้ข้าศึกคาดหมายได้





การนำทัพสู่สมรภูมิดังที่กำหนดไว้
เปรียบเหมือนไต่เต้าไปสู่ที่สูง
แล้วชักบันไดออกเสีย
นำทัพลึกเข้าแดนข้าศึก
เปรียบเสมือนน้าวหน้าไม้แล้วลั่นไก
(ทั้งนี้ทั้งนั้น) อุปมาเหมือนดั่งต้อนฝูงแพะ
จะขับไล่ให้ไปหรือจะชักพาให้มา
เหล่าแพะย่อมไม่รู้กลความเลย)





การชุมนุมพลมหาศาล
คุมเข้าสู่แดนมหันตราย
(ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าพลร่วมใจกัน)
เป็นศิลปะของผู้บัญชาทัพ
ความพิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปรแห่งนวภูมิ
รู้แจ้งเห็นจริงในคุณหรือโทษของการหยุดยั้ง
ตั้งรับ หรือเคลื่อนไหว รุกไล่
ตลอดจนจิตวิสัยของมนุษย์
เป็นสิ่งที่ควรพิเคราะห์จงหนักแล





หลักการคุมทัพเข้าชิงชัยในแดนข้าศึก
ถ้ารุกลึกเข้าไป ขวัญทัพย่อมแน่วแน่เด็ดเดี่ยว
ถ้ากล้ำกรายเพียงชายแดน จิตใจย่อมไม่สำรวมดี
รบพุ่งถึงถิ่นแดนที่ห่างไกลจากประเทศของตน
โดยต้องข้ามประเทศเขตขัณฑ์เข้าไปนั้น
เรียกว่า อรันถภูมิ
แผ่นดินถิ่นที่ถึงไหนถึงได้ เรียกว่า มรรคภูมิ
ที่รุกลึกเข้าไป เรียกว่า คุรุภูมิ
ที่กล้ำกรายเพียงชายแดนคือ ลหุภูมิ
ด้านหลังยันที่สูง ด้านหน้าเป็นทางแคบ เรียกว่า บัญชรภูมิ
ที่จนตรอกไร้ทางออก เรียกว่า มรณภูมิ





ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทัพอยู่ในอุธัจจภูมิ
ต้องเขม็งจิตใจรี้พลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เมื่ออยู่ในลหุภูมิ ต้องให้สมัครสมานคุมกันตามลำดับ
ในอุกฤษฏ์ภูมิ ต้องตีโอบเข้าทางด้านหลัง
ในสัญจรภูมิ ต้องรักษาไว้โดยไม่ประมาท
ในมรรคภูมิต้องเพิ่มพูนสัมพันธภาพกับประเทศนั้น ๆ
ในครุภูมิต้องอาศัยเสบียงอาหารจากข้าศึก
ในทุรภูมิต้องรีบรุดออกเสีย
ในบัญชรภูมิ ต้องปิดช่องโหว่ซึ่งข้าศึกเปิดล่อไว้
ในมรณภูมิต้องปลุกใจรี้พลให้ถือว่าเป็นเรือนเป็นเรือนตาย
(เพื่อให้รบพุ่งเต็มความสามารถจะได้หักฝ่าออกไปได้)






เพราะว่าวิสัยของทหาร
เมื่อถูกล้อมก็จะโต้ เมื่อจำเป็นก็จะสู้
ครั้นมีเหตุคับขันก็จะปฏิบัติมั่น
ตามคำสั่งของผู้เป็นนาย





ฉะนั้น ถ้าไม่รู้เจตจำนง
ของเหล่าเจ้าครองนคร
เราก็ผูกมิตรด้วยไม่ได้
ไม่รู้จักลักษณะภูเขา
ลำเนาไม้ แดนวิบาก ตลอดจน
ห้วยหนองคลองบึงบาง
จะยาตราไม่ได้
ไม่ใช้ชาวพื้นเมืองนำทาง
จะไม่ได้เปรียบจากพื้นภูมิประเทศ





เงื่อนงำได้เสียแห่งนวภูมิ
หากไม่รู้แจ้งแม้เพียง ๑
จะเรียกว่า กองทัพผู้พิชิตไม่ได้เลย






อันกองทัพของผู้พิชิตนั้น
เมื่อเข้าโจมตีประเทศใหญ่
ประเทศนั้นแม้จะมีรี้พลมากมายก็รวมกันไม่ติด
แสนยานุภาพซึ่งเข้าบดบังข้าศึก
จะทำให้แม้ประเทศที่มีพันธะกับศัตรูอยู่
ก็ต้องละล้าละลังเอาใจออกหากเสีย






ด้วยเหตุนี้
ไม่พึงกระตือรือร้นชิงผูกมิตรทั่วหล้า
ซึ่งยังผลให้ประเทศที่เราผูกมิตรด้วย
พลอยก่อหวอดเพิ่มพูนอิทธิบาทยิ่งใหญ่
จงเชื่อมั่นในกำลังของตน
ถึงคราวใช้แสนยานุภาพเข้าทำศึก
ก็จักถอนเมืองและล่มประเทศแห่งอริราชได้






(ยามฉุกเฉิน) จงปูนบำเหน็จรางวัลแก่เหล่าพล
ที่ทำความดีความชอบอย่างถึงใจ
และตั้งกฎเข้มงวดเกินอาชญาธรรมดา
เพื่อลงโทษผู้ประพฤติผิด
จงคุมแสนยากรให้ได้ดั่งช่วงใช้คน ๆ เดียว






จงบัญชาให้เหล่าพลปฏิบัติการ (โดยเคร่งครัด)
อย่าได้แจงเหตุผล
จงชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของงาน
อย่าได้เกริ่นกล่าวถึงด้านที่อาจเป็นโทษ






(วิสัยของพลรบนั้น) ตกอยู่ในที่จนมุม
ก็จะดิ้นรนเพื่อหาทางรอด
ตกอยู่ในแดนตายก็จะขวนขวายเพื่อสวัสดิภาพ
ดังนั้น เมื่อกองทัพตกอยู่ในที่คับขัน
จึงอาจกลับแพ้เป็นชนะได้






เพราะฉะนั้น
ในการทำศึกจึงสำคัญที่สมคล้อย
ไปตามรูปรอยที่ข้าศึกมุ่งหมายไว้
ครั้นได้ทีก็รวมกำลัง
พุ่งเข้าทลายยังจุดเดียว
ไล่รุกบุกตะลุยเข่นฆ่าแม่ทัพข้าศึก
แม้ในหนทางยาวพันหลี่
ผู้ชำนาญการศึกย่อมมี
ประสิทธิภาพในการทำศึกเช่นนี้แล





ด้วยเหตุนี้ ในวันประกาศสงคราม
ต้องสั่งปิดพรมแดนและงดใช้หนังสือเดินทาง
เพื่อตัดขาดการติดต่อในทางทูต
และเข้มงวดกวดขัน
ในงานบริหารปกครองภายในประเทศ
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจริงจัง





ข้าศึกหลวมตัวเปิดช่องให้เมื่อใด
ก็รีบรุดบุกเข้าทันที





จงจู่โจมเข้ายึดจุดสำคัญไว้ก่อน
แล้วกะการอย่างเงียบเชียบมิดเม้น
คลุกคลีตีรบข้าศึกตามแผนการรบเพื่อเผด็จศึก






เพราะฉะนั้น
หะแรกดูประหนึ่งสาวพรหมจารี
(ซึ่งมีความสงบเสงี่ยมและเชื่องช้าเอียงอาย)
ครั้นแล้วก็จะเป็นเช่นกระต่ายที่รอดข่ายแร้ว
หาทันที่ข้าศึกจะปิดจะป้องไม่


* ในสมัยชุนชิว หวูกวาง มีความประสงค์จะสังหารเจ้าครองนครหวู ซึ่งมีนามว่า เหลียวจึ่ง ในโอกาสงานกินเลี้ยงครั้งหนึ่ง ให้จวนจูเอามีดสั้นซ่อนไว้ในตัวปลาและปลอมแปลงเป็นคนนำเข้าถวาย ครั้นประชิดติดตัวก็จู่โจม เจ้าเหลี่ยวถึงแก่ความตาย แต่ในวาระเดียวกัน จวนจูก็ต้องตายด้วยน้ำมือทหารองครักษ์ของเจ้าเหลียวเช่นเดียวกัน เรื่องนี้งิ้วแสดงเสมอ เรียกว่า 'หน้าดำถวายปลา'

** ในสมัยดังกล่าวของข้างต้น ยังมีกระทาชายคนหนึ่งชื่อเฉากุ้ย เป็นชาวหลู่ มีกำลังผิดมนุษย์ธรรมดา จึงได้รับการแต่งตั้งจากจวงกงให้นำทัพไปรบกับประเทศฉี แต่ต้องปราชัยถึงสามครั้งติด ๆ กัน เป็นผลให้จวงกงต้องยอมยกดินแดนส่วนหนึ่งให้ประเทศฉีเพื่อขอสงบศึก แต่ในโอกาสที่จวงกงและเจ้าครองนครฉีพบปะเพื่อลงนามสัญญานั้น เฉากุ้ยก็แสดงความห้าวหาญโดยปรากฏตัวที่ประชุมพร้อมมีดสั้น และบังคับให้เจ้าครองนครฉีคืนดินแดนแก่จวงกงเป็นผลสำเร็จ













ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
อันการพิฆาตด้วยเพลิงนั้นมี ๕
กล่าวคือ ๑. คลอกพลเมืองของข้าศึก
๒. เผาผลาญบรรดาเสบียงอาหารของข้าศึก
๓. ทำลายกองลำเลียง
๔. กวาดล้างคลังยุทโธปกรณ์
๕. พิฆาตรี้พลศัตรู





แต่การใช้เพลิงต้องมีกรณีแวดล้อมเหมาะสม
และเครื่องอุปกรณ์เชื้อเพลิงจะต้องเตรียมไว้พร้อม





ย่อมมีกำหนดเวลาในการวางเพลิง
และวันจะใช้เพลิงก็ควรต้องตามฤดูกาลด้วย
เวลาวางเพลิงต้องคอยวันเวลาที่อากาศแห้งแล้ง
ส่วนฤดูที่จะใช้เพลิงต้องรอ
เมื่อพระจันทร์โคจรระหว่างกลุ่มดาว จีปี้เจิ่นอี้
(คลิกที่นี่ ดูคำอธิบาย - ผู้แปล)
(เพราะเหตุว่า) เมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์ดาวทั้งสี่นี้
เป็นวันที่ลมพัดจัดแล





อันการพิฆาตด้วยเพลิงนั้น
ยังต้องใช้กำลังทหารสนองสำทับ
ตามประเภทการใช้เพลิงทั้ง ๕ อีกด้วย





กล่าวคือ เมื่อเกิดเพลิงภายในค่ายข้าศึก
พึงตีซ้ำจากภายนอก





หากเกิดเพลิงขึ้นแล้ว แต่ข้าศึกยังเงียบเชียบอยู่
จงคอยที อย่าเพิ่งวู่วามเข้าตี





เมื่อเพลิงไหม้ลุกลามจนสุดขีด
เห็นว่าควรซ้ำเติมได้ ก็จึ่งลงมือทันที
ถ้าเห็นว่ายังมิใช่โอกาสก็พึงระงับเสีย





ในกรณีที่ก่อเพลิงภายนอกได้สะดวก
ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดจากภายใน
ควรกำหนดวันเวลาจัดการเสียทีเดียว





ในขณะที่ไฟลุกไหม้ทางเหนือลม
จงอย่าเข้าตีทางด้านใต้ลม





ลมในเวลากลางวันพัดนาน
แต่ลมในเวลาค่ำคืนสงบ





การศึกนั้น พึงรู้การเปลี่ยนแปร
อันเนื่องแต่ประเภทการใช้เพลิงทั้ง ๕
และระมัดระวังตนเองตามหลักคำนวณพยากรณ์





เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใช้เพลิงประกอบการโจมตี
จึงสัมฤทธิ์ผลแน่ชัด
ส่วนวิธีปล่อยน้ำเข้าช่วยทำลาย
เพียงแต่เพิ่มพูนกำลังให้ยิ่งใหญ่
ด้วยว่าน้ำนั้นตัดทางคมนาคมของข้าศึกได้
แต่ไม่อาจบดขยี้ข้าศึกให้แหลกลาญไป





อันการศึกนั้น
มาตรว่าจะได้ชัยชนะในบั้นปลายก็ตาม
แต่ถ้ามิสามารถย่นระยะเวลาการรบ
โดยเผด็จศึกเร็วพลัน ย่อมเป็นโทษมหันต์
จึงขอให้ชื่อว่า 'เฟ่ยหลิว'
(การกระทำซึ่งพล่าเสียซึ่งทรัพย์สมบัติ
และชีวิตมนุษย์แต่มิได้รับผลเป็นแก่นสารเลย)
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า
ราชาผู้ทรงธรรมพึงใคร่ครวญ
ผลได้ผลเสียในการทำสงครามจงหนัก
และขุนพลที่ดีย่อมเผด็จศึกได้ในเร็ววัน





เมื่อไม่อำนวยประโยชน์ ไม่พึงเคลื่อนทัพ
เมื่อมิสามารถเอาชนะ ไม่พึงใช้กำลังทหาร
เมื่อมิอยู่ในสถานะล่อแหลมอันตราย ไม่พึงทำสงคราม





ประมุขแห่งประเทศ
จงอย่าก่อสงครามเพราะความโกรธแค้น
และขุนพลจงอย่ารุกรบด้วยความขึ้งเคียด
จงลงมือปฏิบัติการต่อเมื่อเห็นผลประโยชน์แล้ว
และพึงระงับเสียเมื่อเห็นทีจะเสียผล
อันความโกรธแค้นนั้นอาจกลับเป็นความยินดี
ถึงความขึ้งเคียดก็อาจจะกลายเป็นความหรรษาได้เช่นเดียวกัน
แต่ประเทศที่ล่มแล้วจะหวังธำรงอยู่อีก
ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว จะชุบให้กลับฟื้นคืนชีพนั้นหาได้ไม่





เพราะฉะนั้น ราชาผู้ทรงธรรม
จึงระมัดระวังต่อการทำศึกอย่างยิ่งยวด
และขุนพลที่ดีก็ย่อมจะสังวรณ์ไม่บุ่มบ่าม
นี้คือวิถีธำรงประเทศให้สถาพร
และรักษากำลังทัพให้สมบูรณ์คงไว้แล













ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
การยกพลหนึ่งแสน
เพื่อทำการรณรงค์สงครามในแดนไกลนับพันหลี่
เงินทองซึ่งประชากรต้องส่งเสียเป็นส่วยสาอากร
และทั้งค่าใช้จ่ายในราชการงานทหาร
วันหนึ่งนับตั้งพันตำลึงทอง
ซ้ำจะทำให้เกิดความอลวนทั่ว
ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ผู้คนซึ่งจำต้องต้องละงานประจำ
มาสมบุกสมบันอยู่ตามถนนหนทาง
กับงานลำเลียงขนส่งและอื่น ๆ นั้น
นับเจ็ดแสนครัวเรือนทีเดียว





ครั้นต้องมารบติดพันอยู่หลายปี
เพื่อชิงชัยชนะในวันหนึ่ง
ถ้ามัวแต่หวงแหนเนียวแน่นการใช้จ่ายเงินหลวง
โดยไม่ช่วงใช้จารชน
ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถล่วงรู้
ความในของข้าศึกเสียเลยนั้น
นับว่าขาดการุณยธรรม
ต่อไพร่ฟ้าประชากรอย่างยิ่ง
อันมิใช่วิสัยขุนพล
มิใช่ผู้แบ่งเบาภารกิจของท่านประมุข
มิใช่ราชาผู้พิชิตโลก





ราชาผู้ทรงธรรมและขุนพลผู้หลักแหลม
เมื่อถึงคราวทำศึกก็จักชำนะ
ทั้งได้รับผลสำเร็จเป็นเยี่ยมกว่าบุคคลอื่นนั้น
ก็เนื่องจากสืบรู้ความในของข้าศึกก่อนนั่นเอง





การที่จะล่วงรู้ถึงความในของข้าศึกนั้น
จงอย่าถือเอาจากภูติพรายหรือเทพดาอารักษ์
อย่าคาดคะเนจากปรากฏการณ์
หรือลางเหตุเพียงผิวเผิน
อย่าพิสูจน์จากมุมฉากโคจรแห่งวิถีดาวเดือน
จำเป็นต้องรู้จากบุคคล
จึงจะนับว่ารู้ความในของข้าศึกอย่างแท้จริง





ดังนั้น การใช้จารชนจึงมี ๕ ประเภท
กล่าวคือ จารชนชาวพื้นเมือง จารชนไส้ศึก
จารชนซ้อน จารชนฝ่าความตาย
และจารชนผู้กลับเป็น





ผู้ช่วงใช้จารชนทั้ง ๕ พร้อมกันตามรูปการณ์
ซึ่งทำให้ข้าศึกมืดแปดด้าน
ไม่รู้ความแยบยลของเราอันดุจปาฏิหาริย์ของเทพเจ้า
จึงนับได้ว่าเป็นบุรุษแก้วแห่งพสกนิกร
และประมุขของชาติทีเดียว





จารชนชาวพื้นเมืองนั้น หมายความว่า
การช่วงใช้บุคคลซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของข้าศึก





จารชนไส้ศึกนั้น หมายความว่า
การใช้เสนาอำมาตย์ราชพฤฒาจารย์ของข้าศึก





จารชนซ้อนนั้น หมายความว่า
ซ้อนกลข้าศึกโดยกลับใช้จารชนของข้าศึกเอง





จารชนฝ่าความตายนั้น คือ
ฝ่ายเราประโคมข่าวเท็จภายนอก
แล้วให้จารชนของเรา
ทราบความไปแจ้งแก่ข้าศึก
(ซึ่งมักจะต้องพลีชีพเพื่อให้บรรลุจุดหมาย)





จารชนผู้กลับเป็นนั้น
คือจารชนที่ไปบำเพ็ญกรณียกิจถึงแดนข้าศึก
และสามารถกลับมารายงานข่าว
ยังประเทศของตนเอง





เพราะฉะนั้น ในวงการทหาร
ผู้ที่สนิทชิดเชื้อที่สุด
ผู้ที่ควรปูนบำเหน็จรางวัลงามที่สุด
และผู้ที่สงวนความลับอย่างมิดชิดเร้นลับที่สุด
จะไม่มีผู้ใดเกินกว่าจารชนไปอีก





จึ่งหากมิใช่ผู้ที่ทรงสติปัญญาปราดเปรื่องยิ่ง
ไม่อาจใช้จารชน
มิใช่ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาการุณยธรรม
ไม่อาจบัญชาจารชน
และหากมิใช่ผู้ที่ละเอียดสุขุม
คัมภีรภาพประดุจมีญานวิเศษ
จักไม่อาจถึงซึ่งสารัตถประโยชน์ในจารกรรมได้





มันช่างแยบยลพิลึกพิลือหนอ
ซึ่งไม่มีอะไรจะพิสดารยิ่งไปกว่า
การใช้จารชนอีกแล้ว





ในกรณีที่ยังมิทันลงมือประกอบจารกรรม
แต่ความก็แพร่งพรายเสียก่อน
จารบุรุษพร้อมทั้งผู้รับบอกกล่าว
ให้ลงทัณฑ์ถึงตายทั้งสิ้น






บรรดากองทัพซึ่งประสงค์
จะตีเมืองด่านอันกำหนดจะทลาย
และบุคคลซึ่งมุ่งหมายจะสังหารเสีย
เราจำเป็นต้องให้จารชน
สืบนามนายทหารผู้รักษาเมือง
บรรดาบริวารนายทหารคนสนิท
ซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับแขก
ทหารองครักษ์และคนรับใช้อื่น ๆ





ทั้งต้องสืบทราบจารชนซึ่งข้าศึกใช้
มาประกอบจารกรรมในประเทศเรา
แล้วจงล่อด้วยอามิสประโยชน์
เกลี้ยกล่อมให้เอาใจออกหากจากศัตรู
เพื่อจะได้ใช้เป็นจารชนซ้อนในภายหลัง





ถ้าหากรู้ความจริงจากจารชนซ้อนนี้ไซร้
ก็สามารถช่วงใช้
จารชนชาวพื้นเมือง หรือจารชนไส้ศึกได้
ส่วนจราชนฝ่าความตาย
ก็จะได้อาศัยเป็นปัจจัยนำความเท็จ
ไปแจ้งแก่ข้าศึกตามช่องทางที่แนะ
ทั้งเรายังสามารถกำหนดเวลา
ให้จารชนผู้กลับเป็น
ได้แจ้งรหัสแก่เราตามโอกาส





จารกรรมทั้ง ๕ ประเภทดังกล่าว
จอมทัพย่อมต้องทราบดี
และจะทราบได้จากจารชนซ้อน
ด้วยเหตุนี้ การติดสินบนต้องให้ถึงขนาดแล





ในเบื้องโบราณกาล
ราชวงศ์ 'อิน' รุ่งเรืองขึ้นได้
ก็โดยอิจื้อเคยรับราชการ
ในแผ่นดิน 'เสี้ย' มาก่อน
(ภายหลังมาเป็นเสนาธิการแห่งซาง
ทางกษัตริย์ราชวงศ์ 'อิน' จึง
ได้ล้มแผ่นดิน 'เอี้ย' สำเร็จ - ผู้แปล)
ครั้งราชวงศ์ 'โจว
สืบแทน ราชวงศ์ 'อิน' โดยรุ่งโรจน์สืบมา
ก็โดยอาศัยหลู่หยา
เคยรับราชการในแผ่นดิน 'อิน'
มาก่อนดุจกัน





เพราะฉะนั้น
ราชาผู้ทรงธรรม
และขุนพลผู้หลักแหลม
สามารถใช้ผู้ทรงปัญญาชนเลิศ
ทำหน้าที่จารกรรม
ย่อมสัมฤทธิผลยิ่งใหญ่
นี้เป็นหลักสำคัญของการทำศึก
ด้วยเหตุว่ากองทัพได้อาศัยรหัสนั้น ๆ
เป็นแนวทางในการทำศึกแล






BACK INDEX TOP
home"

ไม่มีความคิดเห็น: